Got Arch Classic : Chochikukyo

Spread the love

เรื่อง ภาพ : สาโรช พระวงค์

กระแสสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้แพร่พัดกระจายไปทั่วมุมโลก แม้ว่าจะเริ่มมาจากตะวันตกแต่ก็ส่งผลถึงตะวันออกเช่นกัน เราสามารถพบกับสถาปัตยกรรมในแต่ละถิ่นที่ปรับตัว ดัดแปลงรูปแบบจากตะวันตกให้กลมกลืนกับพื้นถิ่นได้หลายมุมโลก ในตะวันออกที่ญี่ปุ่นก็เช่นกัน

KoujiFujii สถาปนิกญี่ปุ่นผู้จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจาก Tokyo Imperial University(ปัจจุบันคือ University of Tokyo)เขาสนใจพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบประเพณีของญี่ปุ่นเข้ากับเทคนิคใหม่ตามกระแสนิยมในสมัยนั้น บ้าน Chochikukyoได้สร้างเสร็จในปี 1928 (ราว พ.ศ.2471)บ้านหลังนี้Fujii ได้ทำการทดลองออกแบบกับบ้านหลังที่ 5 ซึ่งเป็นบ้านของเขาเอง บ้านหลังนี้นับได้เป็นสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในยุคนั้นของญี่ปุ่นช่วงแรกเลยทีเดียว

Fujii ออกแบบโดยคิดถึงหลัก passive designด้วยการวางตัวบ้านให้รับแสงอาทิตย์ในส่วนหลักของบ้านเพื่อสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาวด้วยการวางเรือนขวางตะวัน ก่อเกิดปริมาณแสงที่อบอุ่นพื้นที่หน้าบ้านที่มีหน้าต่างเปิดมุม การใช้ท่อดึงความเย็นจากใต้ดินเพื่อนำความเย็นเข้ามายังตัวบ้าน การออกแบบให้มีแนวการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติจากการยกเรือนให้อากาศไหลเวียนด้านใต้ถุนจนลอยระบายอากาศขึ้นไปยังหลังคา การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ ผนังดินฉาบ ช่วยลดการใช้พลังงานของวัสดุก่อสร้างได้ดี

นอกจากนี้เขาใช้การผสมผสานตะวันตก-ตะวันออกเข้าด้วยกัน ในบ้านแบบประเพณีญี่ปุ่นจะเปิดช่องตามช่วงผนัง-เสา แต่บ้านหลังนี้การใช้หน้าต่างที่มีการเปิดมุมแบบ Bauhaus(หรืออาจจะ Le Corbusier , Modrian)ซึ่งตามเอกสารที่บันทึกไว้ไม่ได้ระบุว่าFujiiได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จากใคร แต่คงผ่านการเรียนจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมของเขานั่นเอง เราจะพบกับชายคาที่เรียบบางแลดูสมัยใหม่ การจัดทางสัญจรที่มีทางเดิน corridor ภายในบ้านซึ่งต่างจากบ้านแบบประเพณีญี่ปุ่นที่เมื่อเข้าไปยังสเปซภายในจะเปลี่ยนถ่ายด้วยการเข้าจากห้องหนึ่งสู่อีกห้อง โดยมีบานโชจิเป็นตัวกั้น

การออกแบบระดับภายในให้สัมพันธ์กับการใช้สอยเฉพาะตัวของเจ้าของบ้าน เนื่องจากFuji นั้นชอบนั่งเก้าอี้ภายในบ้าน ต่างกับแม่ของเขาที่ชอบนั่งพื้นแบบญี่ปุ่น การออกแบบพื้นที่ระหว่างแม่และตัวเขาจึงใช้การเล่นระดับภายในตัวบ้านมาเป็นตัวช่วยให้เกิดความพอดีระหว่างเขาและแม่ พื้นที่ต่างระดับถูกยกขึ้นในส่วนที่แม่เขาใช้ เมื่อทั้ง 2 นั่งสนทนากัน ระดับสายตาของทั้งแม่และFujiจะพอดีกัน

Fuji เป็นสถาปนิกที่ส่งอิทธิพลต่อสถาปนิกญี่ปุ่นรุ่นหลังในภูมิภาคคันไซ แต่เป็นที่น่าเสียดายเขาได้เสียชิวิตลงหลังจากบ้านหลังนี้สร้างเสร็จลงในอีก 10 ปีต่อมาในปี 1938 ขณะอายุ 50 ปี หากเทียบกับบ้านเราสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ถูกนำเข้ามายังสยามในช่วงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ที่เราจะพบได้จากงานในช่วงรัฐบาลคณะราษฎร ทั้งตึกแถวถนนราชดำเนิน อาคารไปรษณีย์บางรัก เป็นต้น

อ้างอิง http://www.chochikukyo.com/

Chochikukyo
Architect : KoujiFujii
Location : ChochikukyoOyamazaki-choOtokuni-gun Kyoto Prefecture

*การเดินทางสามารถขึ้นรถไฟJR มาลง Oyamazaki Stationจากนั้นสามารถเดินมายัง Chochikukyoในเวลาราว 5 นาที และนอกจากนี้จาก Oyamazaki Stationยังสามารถเดินมาชมงาน Oyamazaki Museum (Asahi Beer Oyamazaki Villa Museum) ซึ่งออกแบบโดย Tadao Ando ได้ในเวลา 10 นาที

ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับภาพและเรื่องราวของงานนี้ด้วยครับ


Spread the love