ในป่า อาร์ท คอมเพลกส์ โดย Stu/D/O Architects

Spread the love

ในขณะที่ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครได้ขยายตัวแบบไร้ทิศทาง จนปัจจุบันพื้นที่สีเขียวมีสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศในเอเชียอื่น ๆ ทั้งที่พื้นที่สีเขียวจำเป็นต่อจิตวิญญาณของมนุษย์แต่ความสนใจต่อการให้คุณค่าของกรุงเทพมหานครกลับดูไม่ได้รับความสนใจที่จะเพิ่มสัดส่วนให้ดีขึ้น ในวิธีการสร้างเมืองให้น่าอยู่นั้นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดร่มเงาจึงมีความสำคัญ มันสามารถลดความเครียดเพราะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจคนเมืองได้ เมืองที่ร่มเงาไม้สามารถสร้างฉากหลังเมืองได้ เช่นการออกแบบภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะยุบยื่นในส่วนที่ติดกับทางเดินจนเกิดเงาจะเป็นจุดพักให้กับคนเมือง สามารถสร้างมิติการใช้งานที่ยืดหยุ่นได้ดี

ในประเด็นนี้ Edward Twitchell Hall ได้เสนอไว้ในหนังสือของเขา The Hidden Dimension ถึงมิติซ่อนเร้นของมนุษย์ในที่สาธารณะ Hall ได้อธิบายเมืองที่มีขอบป่ากับอาคารว่ามีผลต่อกลุ่มคนที่ทำให้เกิดระยะกับพื้นที่ภายนอกและภายในจากเงาไม้ คนเราจะมีความรู้สึกปลอดภัยดีเมื่อมีเงาให้ซ่อนตัว และยินดีจะอยู่ในระยะของเงาไม้ที่เกิดขึ้นมากกว่าจะเปิดเผยอยู่ตรงกลางของภายในหรือภายนอก พื้นที่ของเงาเหล่านี้จึงช่วยให้มนุษย์สามารถมีกิจกรรมกับเมืองได้เพราะเป็นจุดหยุดพัก สามารถเกิดบทสนทนากันในหมู่ผู้คนของชุมชนได้ การหลบตัวภายในเงาเหล่านี้ทำให้รู้สึกปลอดภัยจากการเกิดสภาวะที่เรียกว่า สภาวะนิรนาม(Anonymity)คือสภาวะที่รู้สึกปลอดภัย เพราะอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะนั้นเอง

ในขณะที่พื้นที่สีเขียว ร่มเงาไม้ในเมืองได้หายาก การก่อสภาวะที่จะรู้สึกปลอดภัยด้วยเงาไม้ หรือลดความความเครียดลดลงก็ยากขึ้น แต่ที่ซอยสุขุมวิท 46 ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนพระรามที่ 4 มายังถนนสุขุมวิทเพื่อต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าพระโขนง มีสถาปัตยกรรมสีดำทะมึนตั้งอยู่แบบแทรกตัวไปกับเหล่าต้นไม้ใหญ่ สถาปัตยกรรมนี้ดูแปลกแยกออกจากสภาพโดยรอบที่เป็นเมืองมากเพราะเหล่าต้นไม้ใหญ่ที่หายากของกรุงเทพมหานครกลับมารวมที่นี่หลายต้นจนครึ้ม

กลุ่มอาคารสีดำเหล่านี้คือโครงการ ในป่า อาร์ท คอมเพลกส์ ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยบริษัท สตูดิโอ อาร์คิเทคส์จุดเริ่มต้นของโครงการเริ่มจากทางเจ้าของเป็นผู้ที่สนใจในงานศิลปะเป็นทุนเดิม โจทย์แรกคือการสร้างโปรแกรมที่เป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานทางด้านศิลปะและการออกแบบ สุดท้ายจึงกลายเป็นโปรแกรมเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่าเน้นไปยังผู้ที่ทำงานศิลปะ โจทย์ที่ 2 คือ เจ้าของโครงการมีความผูกพันต่อต้นไม้เดิมในผืนที่ดิน ต้องการให้รักษาต้นไม้เดิมไว้ให้มากที่สุด

จากโจทย์ทั้ง 2 ข้อ ทำให้สถาปนิกมีแนวคิดในการออกแบบว่าต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมเดิมที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ ให้พื้นที่ศิลปะ สถาปัตยกรรม สอดแทรกอยู่ที่ในต้นไม้ที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติอย่างแนบเนียน รูปทรงของสถาปัตยกรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกเสนอรองลงมาจากความต้องการให้ธรรมชาติแสดงตัวออกมา เปลือกโดยรอบจึงเป็นกระจก 3 ชนิด ดูเรียบง่ายจนสถาปัตยกรรมกลายเป็นฉากให้กับต้นไม้ในที่สุด เปลือกอาคารแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดูเรียบง่าย แต่สถาปนิกเสนอถึงระดับความขุ่นใสเพื่อนำเข้าสู่การรับรู้สภาวะการเข้าถึงสเปซส่วนต่าง ๆ

กระจกชนิดแรกคือกระจกฝ้า (Translucent Glass) ถูกใช้มาเป็นเปลือกหุ้มด้านหน้าอาคาร เมื่อเข้ามาจากถนนซอยจะพบกับ façade ที่เป็นกระจกฝ้าพับเอียงไปมา ซึ่งเป็นการล้อไปกับความเป็นเมืองภายนอกและป่าภายใน การเลือกใช้วัสดุนี้ที่ด้านนอกเกิดจากประเด็นในด้านการใช้สอยที่ต้องการกรองแสงอาทิตย์จากทิศตะวันออกให้เข้ามายังสเปซภายในไม่มากนักจนเกิดเป็นแสงสลัวให้สามารรักษาบรรยากาศร่มครึ้มไว้ พร้อมไปกับสร้างความเป็นส่วนตัว และการออกแบบเปลือกส่วนนี้ให้ค่อย ๆ คลี่ตัวมันเองจากผนังกระจกฝ้าเรียบจากมุมมองทางทิศใต้ แล้วพับไปมาเป็นมิติต่าง ๆ ไปยังทิศเหนือ เพื่อเป็นการอุปมาอุปมัยถึงความเป็นเมืองจากภายนอกค่อยๆสู่ป่าภายในกระจกชนิดที่ 2 คือกระจกรีเฟล็กทีฟ (Reflective Glass) สถาปนิกใช้บริเวณที่ล้อมต้นไม้เพื่อทำการลวงตาให้ผู้เข้าใช้โครงการรู้สึกว่าพื้นที่ป่าในเมืองกว้างขึ้นจากการสะท้อนของกระจกนี้ ซึ่งผลลัพท์ของแนวคิดนี้จะพบได้ชัดเจนที่บริเวณทางเดินชั้น 2 ที่รายล้อมต้นไม้ใหญ่อยู่ การใช้กระจกรีเฟล็กทีฟในส่วนนี้ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าใช้จากการสังเกตของผู้เขียนมาเข้าไปเยือน ผู้คนจะเล่นกับการสะท้อนมากกว่าพื้นผิวแบบอื่น และกระจกชนิดที่ 3 คือส่วนกระจกใส (Transparent Glass) ที่ถูกนำมาใช้เป็นเปลือกหุ้มร้านค้าเพื่อบ่งบอกถึงกิจกรรมภายในให้กระตุ้นผู้คนจากภายนอกเข้ามาใช้ภายใน

จากแนวคิดที่ต้องการรักษาต้นไม้เดิมให้อยู่ร่วมกับสถาปัตยกรรมได้ สถาปนิกจึงใช้ทางเลือกเป็นการแบ่งตัวอาคารออกเป็น 2 ส่วน แต่ให้เชื่อมหากันด้วยสะพานเหล็ก ขั้นตอนส่วนนี้สถาปนิกใช้วิธีต้องมาปรับแบบหน้างานเพื่อให้สามารถหลบต้นไม้เดิมน้อยที่สุด องค์ประกอบทั้งพื้นซึ่งจะสังเกตได้จากทางเดินไม้ที่เชื่อมระหว่างอาคารทั้ง 2 ลำต้นจะแทรกทะลุผ่านพื้นมาอย่างพอดีจากการทำงานด้วยการลงวัดพื้นที่จริง ทำให้รูลอดที่พื้นไม้ของลำต้นไม้ทั้ง 7 ช่องอยู่ร่วมกันอย่างพอดี ไม่ทำร้ายกัน

ทุกขั้นตอนการออกแบบถูกสร้างในกรอบที่จะวางสเปซแต่ละส่วนให้ทำลายต้นไม้เดิมน้อยที่สุด ซึ่งขั้นตอนการทำงานจึงวางแต่ละส่วนให้หลบตามต้นไม้เดิมทั้งสิ้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมจากธรรมชาติเดิมให้อยู่ร่วมกับเมืองได้ จนในที่สุดได้พาศิลปะพบธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ของกรุงเทพมหานคร แต่ก็เป็นส่วนเล็กที่จะช่วยให้เมืองหลวงแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นแน่นอน 

ผู้เขียน
สาโรช พระวงค์ / XarojPhrawong
สถ.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
สถ.ม. มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและอาจารย์พิเศษในสถาบันอื่นๆ 

ข้อมูลโครงการ
สถาปนิก : บริษัท สตูดิโอ อาร์คิเทคส์ (Stu/D/O Architects)
ผู้รับเหมา : บริษัท สิทธานันต์ (Sittanant Company Limited)
งบประมาณ : ประมาณ 60 ล้านบาท
ที่ตั้งโครงการ : 46 ซอยสุขุมวิท 46 กรุงเทพฯ 10110 (46, 46 Sukhumvit Rd, Bangkok 10110)
พื้นที่โครงการ : 1,480 ตารางวา (5,920 sq.m.)

ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับรูปและเรื่องราวของงานนี้ด้วยครับ


Spread the love