Yellow Submarine โดย Secondfloor Architects

Spread the love

“สถาปัตยกรรมคือสะพานเชื่อมมนุษย์สู่บริบท”

ประโยคที่ผ่านมาคือการเสนอถึงหน้าที่ของสถาปัตยกรรมที่นอกจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีภาระต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เข้าไปใช้งานด้วยเช่นกันการให้ความสำคัญต่อถิ่นที่ในงานสถาปัตยกรรมได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วงที่กระแสโมเดิร์นจางลง พร้อมถูกแทนที่ด้วยโพสต์โมเดิร์นโดยอย่างยิ่งสาย Contextualism ที่มีปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมอย่างคอลินโรว์ เสนอถึงแนวทางนี้ สำหรับคำว่า บริบท ที่เหล่าสถาปนิกชอบพูดถึงมันคือสิ่งสัมพันธ์ต่อกายภาพของโครงการที่แปลมาจากคำว่า context นั่นเอง อย่างในกรณีของ คอลินโรว์จะนิยมวิเคราะห์สิ่งที่รายล้อมงานสถาปัตยกรรมด้วยวิธี Figure and Ground คือการใช้เทคนิคการถมดำสิ่งปลูกสร้างเดิมจนเกิดความแตกต่างของที่ว่างและที่ไม่ว่าง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ที่ตั้งต่อไปได้

การหาตัวตนให้กับสถาปัตยกรรมผ่านแนวคิดเรื่องบริบท จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับที่ตั้งไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เหมือนที่เราจะสามารถพบได้จากร้านกาแฟในป่าเขาใหญ่ที่ตีความจากบริบทมาสู่อีกแนวคิดที่แตกต่างจากการเสพสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าที่มักจะนิยมเล่นกับการชักนำสภาพแวดล้อมภายนอกเข้ามายังที่ว่างภายใน ร้านกาแฟนี้ชื่อ Yellow Submarine Coffee Tank ออกแบบโดย Secondfloor Architects
 

Yellow Submarine Coffee Tank ตั้งอยู่บนนถนนท้องถิ่นเชื่อมระหว่างถนนมิตรภาพและถนนธนะรัตน์ สภาพแวดล้อมโดยรวมอยู่บนที่ลาดเอียงเล็กน้อยเชิงเขาใหญ่ ที่ตั้งรายเรียงล้อมด้วยต้นไม้ยืนต้น เมื่อลัดจากถนนเข้ามาจะพบกับกำแพงสีดำขนาดสูงทำให้ตัวสถาปัตยกรรมโดดเด่นขึ้นมาจากสภาพโดยรอบ การเลือกใช้ผนังทึบสูงสีดำช่วยพรางกิจกรรมภายใน ช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นว่าหลังกำแพงทึบนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ การจะเข้าถึงพื้นที่ภายในร้านกาแฟต้องผ่านทางเข้าขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของทางเข้าแล้วมีขนาดที่เล็ก แต่มันกลับกลายเป็นการสร้างองค์ประกอบที่ดีให้กับการค้นหาทางเข้า

จวบจนผ่านเข้ามายังพื้นที่ภายในตรงลานด้านหน้า กลับกลายเป็นลานกรวดที่ถูกห้อมล้อมด้วยกำแพงสูง ทำให้สเปซกึ่งกลางแจ้งแห่งนี้ถูกตัดออกจากสภาพแวดล้อมของเขาใหญ่ สิ่งที่อนุญาตให้ผ่านเข้ามาได้คือท้องฟ้าและทิวไม้ จากนั้นเมื่อเคลื่อนตัวเข้าไปยังพื้นที่เสพกาแฟซึ่งถูกปกคลุมไว้ด้วยกล่องอิฐสีเทาที่เรียงสลับกันไปมา พร้อมกับเว้นระยะเป็นช่องให้แสงอาทิตย์จากเขาใหญ่ลอดเข้ามาทาบยังผนังภายในจนเกิดปรากฏการณ์แสงทาบลงเป็นจุดที่เคลื่อนไหวไปตามเวลาต่างๆ  ภายในกล่องอิฐเทานี้เป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านจากลานกรวดสู่สเปซกึ่งภายนอกภายในที่มีความสลัวขึ้น แต่ผู้เข้าใช้ยังสามารถเสพสภาวะกึ่งภายนอกภายในจากช่องว่างผนังอิฐเทาและผนังดำ ทำให้เกิดความไม่แน่ชัดว่าอยู่บริบทไหนของเขาใหญ่

หลังจากเดินผ่านส่วนกล่องอิฐไปยังพื้นที่ด้านหลังที่จัดให้เป็นที่นั่งกลางแจ้ง แต่ถูกครอบครองสเปซจากระนาบกำแพงทั้ง 3 ด้าน ระนาบเหล่านี้ช่วยเพิ่มความสงัดให้กับพื้นที่ภายใน พร้อมกับตัดขาดจากบริบทของเขาใหญ่ให้เห็นแค่เพียงยอดไม้ที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่าอยู่ที่ไหน

จุดประสงค์ของสถาปนิกคือการเข้าไปเล่นกับความรู้สึกของมนุษย์ เมื่อเหล่าผู้คนที่มายังเขาใหญ่ล้วนอยากเสพบรรยากาศของเขาใหญ่ที่มีเป็นต้นไม้ใหญ่และภูเขา แต่เมื่อเข้าไปยังYellow Submarine Coffee Tank มันคือการชวนเข้าไปตั้งคำถามว่าเราควรจะมาเขาใหญ่เพื่อเสพแต่บรรยากาศแบบเดิม ๆ หรือจะมุ่งเข้าหาความสงัด พร้อมกับตัดการรับรู้ตัวเองเข้ากับสถาปัตยกรรมเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติอีกแบบและกลิ่นกาแฟ

ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับรูปและเรื่องราวของงานนี้ด้วยครับ 

อ้างอิง

https://www.scgbuildingmaterials.com/th/HomeConsult/Blog/new-home/Yellow-Submarine-Coffee-Tank-Khao-Yai.aspx

http://www.2ndfl.in.th/ 


Spread the love