เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม 9/11 Memorial Museum ที่นิวยอร์คมา และเนื่องในวันนี้เป็นวันครบรอบ 14 ปีของเหตุการณ์ 9/11พอดี เลยขอนำภาพของงานนี้มาให้ชมเพื่อรำลึกถึงเหตุวินาศกรรมและการก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กันครับ
ขอเกริ่นถึง Master Plan ของงานนี้นิดหนึ่งครับ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นได้สักพัก เขาก็ได้มีจัดการประกวดแบบเพื่อที่จะสร้างตึก World Trade Center และอนุสรณ์สถานขึ้นมาใหม่ โดยมีสถาปนิกชั้นนำทั่วโลกส่งเข้าประกวด โดยผู้ที่ชนะการประกวดครั้งตอนนั้นได้แก่ Daniel Libeskind โดยแนวความคิดหลักของเขาประมาณว่า ไม่ควรที่จะสร้างตึกสูงลงไปบนที่เดิมอีก ควรจะเปิดโล่งปล่อยไว้เป็นอนุสรณ์สถานแล้วสร้างตึกต่างๆล้อมรอบแทน
ต่อมา Master Plan ของ Libeskind ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่แนวความคิดที่จะรักษาพื้นที่ตึกเก่าให้เป็นที่โล่งก็ยังถูกรักษาไว้ได้ โดยพื้นที่ตรงนี้เขาได้มีการจัดประกวดแบบอนุสรณ์สถานอีกที โดยคราวนี้ Michael Arad สถาปนิกอิสราเอลร่วมกับ Peter Walker ภูมิสถาปนิกชนะการประกวด จากแบบที่ถูกส่งกว่า 5,200 แบบ เขาเรียกแบบของเขาว่า “Reflecting Absence” โดยมีการออกแบบเป็นพลาซ่า ที่มีการเจาะช่องขนาดเดียวกับฐานตึกเดิมทั้งสองตึก และเป็นน้ำตกไหลลงไปสู่สระน้ำด้านล่างซึ่งจะสะท้อนให้เห็น skyline ของเกาะแมนฮัตตั้น ตอนแรกเขาได้ออกแบบให้มี แกลเลอรี่ที่อยู่ด้านใต้พลาซ่า เพื่อแสดงรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ตึก World Trade นี้ ทั้งในปี 2001 และปี 1993 ต่อมาแบบได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นรายชื่อที่ถูกสลักอยู่บนแท่นที่อยู่ด้านบนพลาซ่าแทน
บรรยากาศบริเวณอนุสรณ์สถาน 9/11 ซึ่งตรงนี้เคยเป็นบริเวณตึก 1WTC เดิมมาก่อน ส่วนตึก 1 World Trade Center อาคารใหม่ที่ออกแบบโดย David Child จาก SOM เห็นเป็น background อยู่ด้านหลัง
อีกมุมมองหนึ่งเห็นอาคาร Transportation Hub ออกแบบโดย Santiago Calatrava และ 9/11 Memorial Museum อยู่ไกลๆ
9/11 Memorial Museum ออกแบบโดย Davis Brody Bond และ Snøhetta ตัวอาคาร pavilion ด้านบนค่อนข้างจะเรียบง่าย แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์นี้จะอยู่ใต้ดิน
ตอนแรกผมไปช่วงบ่ายกว่าๆของวันศุกร์ปรากฏว่าคนเยอะมาก คิดว่าต้องต่อคิวรอเข้าไม่ต่ำกว่าชั่วโมง เลยตัดสินใจว่าจะกลับมาวันหลังในช่วงเช้าๆดีกว่า
จากภายนอกสามารถส่องเข้าไปดู space ตรงโถงล็อบบี้ภายในได้ ซึ่งตรงโถงนี้เขาได้นำโครงสร้างเสาเหล็กของตึกเก่าที่เขาเรียกว่า tridents เนื่องจากตัวเสามีลักษณะคล้ายๆส้อมที่มีสามซี่ที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตึกนี้มาจัดแสดงไว้
บริเวณซุ้มขายตั๋ว จริงๆแล้วตั๋วสามารถซื้อออนไลน์ได้นะครับ ถ้าใครไม่อยากมาต่อคิวก็ซื้อก่อนล่วงหน้าไปเลย แต่ต้องมีการระบุเวลาว่าจะเข้ากี่โมง
เมื่อผมกลับมาอีกทีในช่วงวันอาทิตย์ตอนเช้าๆ คนน้อยกว่าคราวที่แล้วเยอะ รอแค่ไม่ถึงห้านาที
มาดูรูปแผนที่ที่ได้จากโบรชัวร์ของพิพิธภัณฑ์กันก่อนนิดนึง ส่วนของอาคารที่อยู่เหนือพื้นดินนั้นมีสองชั้น ชั้นแรกนั้นเป็นส่วนล็อบบี้ ส่วนชั้นที่สองนั้นเป็นห้องบรรยายและร้านอาหาร
ลงบันไดเลื่อนมาที่ชั้นใต้ดินชั้นแรก จะเป็นนิทรรศการที่เกริ่นถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ 9/11 และจะทางเดินจะค่อยๆกลายเป็นทางลาดซึ่งนำไปสู่ชั้นใต้ดินอีกชั้นหนึ่ง
ลงมาชั้นล่างสุดจะอยู่ประมาณตรงกลางระหว่างฐานของตึก World Trade Center เก่าทั้งสองตึก โดยโถงนิทรรศการก็จะจัดอยู่ตรงใต้ฐานของทั้งสองตึกนี้
พื้นที่ตรงบริเวณล็อบบี้ของชั้นแรก ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาถึงตรงนี้ต้องมีการผ่านเครื่องตรวจโลหะและสแกนกระเป๋าเหมือนกับเข้าสนามบินเลย
บันไดลงไปสู่พื้นที่นิทรรศการ และเสา tridents ของตึกเก่า
จากพื้นที่ที่สว่างด้านบน เมื่อลงมาตรงถึงโถงของส่วนนิทรรศการตรงนี้เขาได้ออกแบบให้บรรยากาศเริ่มดูหม่นๆขึ้นด้วยการใช้พื้นและผนังสีโทนเข้มขึ้น และแสงที่ค่อนข้างจะสลัวๆ
นิทรรศการเริ่มเล่าเรื่องจากเวลา 8:30 น. เช้าของวันที่ 11 กันยายน 2001 ณ.เกาะแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ค ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช้าที่ปกติวันหนึ่ง ใครจะรู้ได้ว่าอีกเพียงไม่กี่นาทีถัดจากนี้ โลกของเราก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เครื่องบิน American Airline flight 11 ซึ่งเดินทางจาก Boston โดยมีจุดหมายปลายทางที่ Los Angeles ได้ถูกไฮแจ็คและบินออกนอกเส้นทางย้อนกลับมาชนตึก 1 World Trade Center ตอนเวลา 8:42 น. ซึ่งณ.ตอนนั้นผู้คนกำลังแตกตื่นตกใจ และงงว่าเกิดอะไรขึ้น แค่อีกประมาณ 20 นาทีถัดมาเครื่องบิน United Airline flight 175 ซึ่งจะเดินทางจาก Newark ไป San Francisco พุ่งเข้าชนตึก 2 World Trade Center หลังจากนั้นทุกคนค่อนข้างจะแน่ใจว่าเป็นการก่อวินาศกรรมแน่นอน
ตรงโถงนี้แสดงภาพเหตุการณ์หลังจากที่เครื่องบินชนตึกทั้งสอง ที่ผู้คนต่างตกใจ สับสน และหวาดกลัว บรรยากาศตรงโถงนี้เรียกได้ว่ามืดมากๆ
เมื่อเดินมาถึงตรงปลายสุดของทางเดินนี้จะเป็นพื้นที่ที่มองลงไปเห็นโถง Foundation Hall ด้านล่างซึ่งเป็นสเปซสูงสองชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผนังกำแพงกันดินของอาคารเก่า หรือ Slurry
Wall ตรงนี้มีการจัดแสดง Last Column ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาเหล็กชิ้นสุดท้ายของอาคารที่ถูกรื้อออกจากไซท์นี้ ชั่วคราว โดยบนเสานี้จะมีการเขียนข้อความเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์โดยญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิต อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่และคนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้
Slurry Wall และ Last Column
ในการก่อสร้างอาคารเดิมนั้น เขาจะต้องมีการฝังเสาเหล็กของตึกเก่าลงไปที่ชั้นหินของพื้นที่นี้เพื่อทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของทั้งตึก ด้วยความที่ที่ตั้งตึกนี้อยู่ใกล้แม่น้ำ Hudson ถ้าเขาขุดหลุมเจาะลงไปเฉพาะตรงบริเวณเสาอย่างเดียว จะทำให้น้ำใต้ดินไหลท่วมเข้ามาในหลุม ทำให้การก่อสร้างเป็นไปแทบจะไม่ได้ วิศวกรเขาเลยออกแบบให้มีการสร้างกำแพงกันดิน (ที่กันน้ำได้ด้วย) รอบๆบริเวณฐานของทั้งตึกเลย เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาในบริเวณที่เขาจะสร้างเสาและฐานรากนี้
ป้ายที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตึกเก่าเช่น เป็นตึกที่มีจำนวนลิฟท์ 200 ตัว ห้องน้ำ 1,200 ห้อง ลูกบิดประตู 40,000 อัน เป็นต้น ไม่แน่ใจว่าอันนี้เป็นป้ายดั้งเดิม หรือของใหม่แต่ทำให้ดูเก่า
ภาพเปรียบเทียบอาคารก่อนและหลังเหตุการณ์
หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้มีผู้สูญหายมากมาย โทรศัพท์มือถือแทบจะใช้ไม่ได้ในวันนั้น เพราะทุกคนโทรเช็คข่าวและโทรติดต่อญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุกันเยอะมาก
บริเวณนี้แสดงถึงป้ายประกาศคนหายที่ติดไว้ตามสถานที่ต่างๆ
โถงบันไดที่นำลงไปสู่โถงนิทรรศการชั้นล่างสุด
ตรงบันไดลงนี้มีการจัดแสดง Survivors’ Stairs ซึ่งเป็นบันไดเดิมที่ผู้หนีออกจากตึกใช้ลงมาจากพลาซ่าของตึกชั้นบนลงมาสู่ชั้นถนน เรียกว่าบันไดนี้ได้ช่วยชีวิตผู้คนนับพันที่อยู่ในตึกช่วงเกิดเหตุได้อย่างดีทีเดียว
มองไปตรงส่วนห้องนิทรรศการ กล่องขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนลอยอยู่นั้นคือผนังด้านในของหลุมที่เป็นน้ำตกด้านนอกนั่นเอง
ตัวหนังสือบนผนังที่ถูกหลอมมาจากเหล็กของอาคารเก่า
ร่องรอยของเสาเหล็กเดิมที่ฝังอยู่บนพื้นชั้นหินซึ่งเปรียบเสมือนฐานรากของตัวอาคาร
ชิ้นส่วนเหล็กของอาคาร ถ้าจำไม่ผิดชิ้นนี้คือส่วนตรงที่เครื่องบินพุ่งชนตัวตึกเลย
การทำงานของระบบลิฟท์ของอาคารเดิม และมีการใช้ sky lobby เป็นระยะๆ
เสาวิทยุและโทรทัศน์ของอาคารเก่า
เสาวิทยุและโทรทัศน์ของอาคารเก่ามองจากอีกมุมหนึ่ง
สภาพรถของหน่วยดับเพลิงที่เข้ามาทำการช่วยเหลือ อพยพผู้คน หัวหน้าของหน่วยดับเพลิงชุดนี้ก็เสียชีวิตจากการเข้าไปช่วยคนในครั้งนี้
Time line จากปี 2001 ถึงปัจจุบัน
เสียดายที่บริเวณในห้องนิทรรศการที่แสดงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดในวันที่เกิดเหตุเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ซึ่งในห้องนั้นจะมีการแสดงถึงภาพและวีดีโอตอนที่เครื่องบินชนตึกทั้งสอง การบันทึกเสียงของผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินหลังจากที่พวกเขารู้ว่าเครื่องบินโดนไฮแจ็คแล้วพยายามติดต่อกับพ่อแม่และคนที่รัก บทสนทนากันระหว่างนักบินและผู้ก่อการร้าย ซากและชิ้นส่วนที่เหลือของเครื่องบิน ภาพของคนที่ติดอยู่บนตึกตัดสินใจจบชีวิตด้วยการกระโดดลงมาจากตึกดีกว่าที่จะต้องผจญกับความร้อนของเปลวเพลิงที่กำลังไหม้ตึก บรรยากาศโดยรวมของนิทรรศการเรียกว่าหดหู่ไม่น้อยทีเดียวครับ
อีกมุมหนึ่งของ Slurry Wall ตรง Foundation Hall
เมื่อขึ้นบันไดไปกลับสู่โถงล็อบบี้ มองผ่านเสาซากของเสาอาคารเก่าขึ้นไปผ่านผนังกระจกจะเห็นตึก One World Trade Center อาคารใหม่เป็น background
โดยรวมแล้วผมว่า 9/11 Memorial Museum แห่งนี้เป็นงานที่ดีทีเดียว ทั้งในแง่การออกแบบบรรยากาศ การให้แสง และสเปซภายใน ถึงแม้ว่าผมจะมีเวลาไม่มากในการชมนิทรรศการต่างๆ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกไม่น้อย สิ่งที่น่าชื่นชมนอกจากตัวอาคารและนิทรรศการนั่นคือ ความเสียสละและความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ตำรวจ และหน่วยกู้ภัยต่างๆที่เข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่อยู่ในตึกให้หนีออกมาได้ ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าโอกาสที่จะได้รอดชีวิตกลับมานั้นริบหรี่เต็มที แต่เขาก็ยังเข้าไป
ขอระลึกถึงเจ้าหน้าที่กว่า 400 คนและผู้คนอีกเกือบ 3,000 คนที่เสียชีวิตในวันนั้นครับ