Home
Featured Projects
Photo Gallery
Articles
Links
About us

   
Project : New Museum
Location : New York, USA
Architect : SANAA, Kazuyo Sejima + Ryue Nishizawa
Photos & story by : Yuthdanai & Ornsutha (published in Daybed Magazine in Dec. issue)

NEW MUSEUM: THE OPENNESS BOX

บ่ายสามโมงเย็นของวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม มีฝูงชนกลุ่มใหญ่รวมถึงผู้เขียน ยืนเข้าแถวอยู่ริมถนน Boweryที่หน้าตึกรูปทรงประหลาดสีเงิน ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บเกือบติดลบ เหตุผลก็คือวันนี้เป็นวันเปิดตัวของ New Museum of Contemporary Art New York ที่หลายคนรอคอย คิดแล้วรู้สึกอิจฉาเพื่อนของเราบางคนที่ได้รับเชิญไปในงานเลื้ยงเปิดตัวตั้งแต่ 6 โมงเช้าแบบอุ่นๆข้างใน ไม่ต้องมายืนคอยเข้าแถวรับตั๋วฟรีเหมือนปุถุชนคนธรรมดาแบบพวกเรา ว่ากันถึงถนน Bowery นี้ถือว่าเป็นถนนกว้างๆที่ตลอดแนวถนนเป็นร้านขายอุปการณ์เครื่องครัวหนักสำหรับร้านอาหาร ที่ฉาบไปด้วยความดิบกระด้าง ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างแปลกของการย้ายพิพิธภัณฑ์จากเดิมที่เคยอยู่ในย่าน SOHO ที่เต็มไปด้วย Designer Loft, แกลเลอรี่, ร้านเฟอร์นิเจอร์ และ (ที่ขาดไม่ได้) ร้านเสื้อผ้าดังๆ มาที่นี่ ซึ่งเรียกว่าไม่ได้มีอะไรสวยหรูอยู่เลย

สำหรับประวัติขององค์กร New Museum คร่าวๆนั้นถือกำเนิดจากวัตถุประสงค์เพื่อจะให้โอกาสกับศิลปินที่ยังไม่แจ้งเกิด ยังไม่ได้รับโอกาสหรือถูกปิดโอกาสในการแสดงผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่งานจะเป็นงานในแนว cutting-edge art หรือออกแนวอินดี้นั่นเอง ที่มาของแนวทางนี้เกิดขึ้นมาจากตัวผู้ก่อตั้ง ในปี 1977 คุณ Marcia Tucker ได้ถูกไล่ออกจาก Whitney Museum of American Art ที่เธอทำงานเป็น Curator จากการที่เธอเลือกจัดแต่งานที่ค่อนข้างสร้างกระแสโต้แย้ง ด้วยความที่เป็น Curator ดังหลังจากที่โดนไล่ออก 1 วันเธอจึงมาตั้ง พิพิธภัณฑ์ที่ชื่อ New Museum ขึ้นเพื่อที่จะสานแนวทางของเธอ

ในหลายๆปีที่ผ่านมา พิพิธภัญฑ์ในอเมริกาได้ใช้วิธีง่ายๆในการเรียกร้องความสนใจจากผู้เข้าชม โดยการว่าจ้างสถาปนิกดังๆจากทั่วมุมโลกมาออกแบบโครงการ ซึ่ง New Museum ก็เช่นกัน แต่เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของพิพิธภัณฑ์สถาปนิกที่ มาออกแบบจึงถูกกำหนดให้เป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ การคัดสรรมาจบลงที่ สถาปนิกญี่ปุ่น คาซูโยะ เซจิมา และ เรียวเอะ นิชิซาวา แห่ง SANAA ทั้งสองคนโด่งดังในเรื่องการออกแบบงานที่ตัวอาคารนั้นดูเรียบน้อย บริสุทธ์บางเบา ซึ่งเมื่อคิดภาพของงาน SANAA ที่อยู่ในหัวกับสภาพแวดล้อมในเวลานั้นแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจทีเดียว ว่าอาคารที่เบาบางเช่นนี้เมื่อมาตั้งในสภาพแวดล้อมที่หยาบกระด้างจะออกมาเป็นอย่างไร

แนวทางการออกแบบของ เซจิมา และ นิชิซาวา คือการตอบโจทย์วัตุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์รวมถึงที่ตั้ง ด้วยความเรียบน้อย (Minimal) และ ความเปิด (Openness) เนื่องด้วยความจำกัดในด้านขนาดของที่ตั้ง ตัวพิพิธพัณฑ์ได้ถูกออกแบบมาในลักษณะตึกสูงประกอบไปด้วยกล่อง 7 กล่องที่มีขนาดไม่เท่ากัน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับส่วนจัดนิทรรศการ ผนังของอาคารส่วนใหญ่ซึ่งห่อคลุมส่วนนิทรรศการจึงเป็นผนังทึบเกือบทั้งหมด แสงธรรมชาติได้รับการออกแบบให้สามารถส่องเข้ามาทางหลังคากระจกที่เกิดจากการเหลื่อมซ้อนกันของตัวอาคาร นับเป็นการออกแบบอันหลักแหลม ซึ่งนอกจากจะได้รูปทรงที่ดูแปลกตายังตอบสนองการใช้สอยได้เป็นอย่างดี

และเช่นเดียวกับงานอื่นๆของ เซจิมา และ นิชิซาวา แนวความคิดของการเปลี่ยนสถานะจากอาคารที่ดูหนาหนักให้กลายเป็นวัตถุที่ดูบางเบา ได้นำมาใช้ในงานนี้จากการใช้กระจกใสทั้งหมดในส่วนทางเข้า และการเลือกใช้พื้นผิวของอาคารที่ห่อหุ้มด้วย Corrugated stainless steel ชั้นใน และ Anodized aluminum mesh ชั้นนอก ซึ่งตัวตาข่ายอลูมินัมนี่เองที่ให้ความรู้สึกที่ดูเป็นอุตสาหกรรม เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอาคารพิพิธพัณฑ์กับสภาพแวดล้อม และยังเปรียบได้เป็นประหนึ่งกับสิ่งทออันบางเบาห่อคลุมอาคารที่โยงไปถึงแนวคิดพื้นฐานของ เซจิมา และ นิชิซาวา ได้เป็นอย่างดี

เข้าสู่ภายในอาคาร ที่ว่างในแต่ละชั้นจะได้รับการออกแบบให้มีการไหลต่อเนื่องกันไปตลอด สนับสนุนแนวคิดของความเปิดโล่ง ใช้เพียงวัสดุบางเบา เช่น กระจก, ตาข่ายผ้า หรือ ตาข่ายอลูมินั่ม มาใช้ในการแบ่งพื้นที่ใช้สอยเมื่อจำเป็น ซึ่งลักษณะของการแบ่งก็เป็นเพียงแค่ร่องรอยบางๆของการแบ่งที่ว่างเท่านั้น ไม่ได้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนในทางความรู้สึกหรือทางกายภาพอย่างไร มีส่วนที่เป็นผนังทึบที่ปิดแยกต่างหากอยู่ส่วนเดียว ในส่วนที่เป็นทางสัญจรทางตั้งด้านข้างของอาคาร นอกเหนือจากนั้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดของการเปิดโล่งและยืดหยุ่น การออกแบบภายในดูเหมือนเจาะจงให้มีการเปิดเผยโครงสร้างของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นงานท่อหรือ เหล็กโครงสร้างต่างๆ ในพื้นที่ใช้สอยจะไม่มีเสามาเกะกะให้เห็น ความสูงของแต่ละชั้นจะไม่เท่ากัน เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการจัดนิทรรศการที่หลากหลาย ขึ้นไปถึงชั้นที่ 7 ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีระเบียงด้านนอกให้เป็นจุดชมวิวอาณาเขตย่าน SOHO และ NOLITA

งานออกแบบ New Museum ของ เซจิมา และ นิชิซาวา ดูจะตอบโจทย์ในส่วนแนวคิดของโครงการและที่ตั้ง ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคิดในแง่ความยืดหยุ่นของการใช้สอย ที่ออกจะเรียบง่ายมาก จนดูราวกับว่าไม่ได้ทำอะไร ซึ่งในทางความคิดนี้ชาวญี่ปุ่นเองอาจจะเคยชินเป็นอย่างดี แต่สำหรับชาวอเมริกันที่คุ้นเคยกับงานที่ต้องมีจุดสนใจมากๆเปรียบได้กับดูหนัง Hollywood กับ หนังญี่ปุ่นนั้น เป็นสิ่งที่ชวนให้น่าสงสัยว่าพวกเขาจะมีการตอบรับกับงานลักษณะนี้อย่างไร ซึ่งสุดท้ายก็คงจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และรสนิยมส่วนตัวของผู้เสพเอง คำถามที่น่าสนใจคือเส้นแบ่งของความเรียบง่ายจนน่าเบื่อกับความเรียบง่ายที่ดูตื่นเต้นนั้นอยู่ตรงไหน สิ่งที่น่าตลกคือ ในทางบันไดหนีไฟที่เป็นผนังขาวโพลนนั้น มีคนมือดีไปพ่นคำว่า “น่าเบื่อ” สีแดงแปร๋นไว้บนกำแพงทั้งๆที่วันนี้เป็นวันแรกที่พิพิธพัณฑ์เปิดใช้งาน แต่จะพูดอย่างไรดี graffiti นี่ก็ถือว่าเป็นสื่อหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวสู่สังคม อย่างน้อยก็มีเสียงหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นกับความเรียบง่ายเท่าไหร่นัก

จะขอจบด้วยประเด็นที่น่าสนใจเอามาฝากจาก นิตยสาร New Yorker กล่าวเทียบเคียงถึงงานนี้กับพิพิธพัณฑ์ MOMA (Museum of Modern Art) ไว้ว่า New Museum เองได้ใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกับ MOMA ในแง่ของตัวอาคารกับเพื่อนบ้านหรือสภาพแวดล้อม MOMA สร้างเสร็จในปี 1939 ในสมัยนั้นที่รายล้อมไปด้วยบ้านพักอาศัยแบบเก่าที่เรียกกันว่า Brownstone เมื่อจับเอาอาคารเรียบๆแบบโมเดิร์นวางลงไป ก็ก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีกับตัวพิพิธพัณฑ์ที่ได้ยินความเป็น Modern Art Museum ตะโกนร้องออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน สภาพแวดล้อมแถบนั้นก็เปลี่ยนไปกลายเป็นอาคารสำนักงานโมเดิร์นเกือบทั้งหมด ทำให้ MOMA ในส่วนอาคารเดิมไม่อาจตะโกนก้องได้อีกต่อไป ซึ่งเราเองก็เห็นด้วยกับตรงจุดนี้และดูเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ย่านแถบถนน Bowery ที่ในช่วงปีหลังๆได้ถูกการเจริญเติบโตของย่าน SOHO คืบคลานเข้ามาพร้อมกับ คอนโดมิเนียมราคาแพงและร้านเสื้อผ้าชื่อดัง New Museum จะยังคงยืนตระหง่านอยู่ในความขัดแย้ง หรือจะโดนตึกโมเดิร์นใหม่ๆที่กำลังจะเกิด กลืนกินเอกลักษณ์ของตัวมันไป


Terrace


Theater


Terrace


Detail

ขอขอบคุณ เพื่อนยืดและตั้มสำหรับรูปภาพ บทความ และ ขอขอบคุณนิตยสาร Daybed ที่อนุญาตให้นำมาลงครับ

     

กรุณาส่งคำแนะนำมาที่ got_arch@yahoo.com

หน้าแรก | โปรเจค | แกลเลอรี่ | บทความ | ลิ้งค์ | เกี่ยวกับเรา