พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย(MOCA)

Spread the love

(รูปและบทความโดยแอดมินแขก)

หากเดินทางในเส้นทางออกไปจากกรุงเทพมหานครด้วยถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งขึ้นไปยังทางออกทิศเหนือ เราจะพบกับคำถามถึงกล่องขนาดยักษ์สีเทาเรียบ ที่ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงเพชร 6 เลียบขนานไปกับถนนวิภาวดี กล่องเทาทะมึนใบนี้มีเสกลที่ชวนสร้างคำถามมากมายว่ามีเนื้อหาอะไรอยู่ภายในกันแน่ ด้วยการแสดงออกถึงเรื่องราวภายในได้น้อยมากทำให้’อ่าน’อาคารหลังนี้ได้ยากหากไม่ได้เข้าไปยังภายในด้วยตัวเอง

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ Museum of Contemporary Art ที่เราจะติดปากว่า’ MOCA’เป็นจุดหมายของเส้นทางการอ่านนี้ เป็นเส้นทางของศิลปะไทยร่วมสมัย ของนักสะสมศิลปะ’บุญชัย เบญจรงคกุล’ ที่เราคงไม่เอ่ยถึงชื่อเสียงของเขาเพราะคุ้นเคยในวงสังคมอยู่แล้ว MOCA เกิดขึ้นจากแกลเลอรีเดิมของคุณบุญชัยที่ไม่เพียงพอต่อการจัดแสดงผลงานสะสมส่วนตัวของศิลปินจำนวนมากที่เขาสะสมไว้จำนวนกว่า 500 ผลงาน การสร้างที่จัดแสดงคอลเลคชันเหล่านี้จึงเป็นจุดกำเนิดของโปรแกรม MOCA

MOCA เป็นการผสมการออกแบบทั้งสามส่วนจนเป็นเนื้อเดียวกันจากสามส่วนหลัก ทั้งส่วนออกแบบสถาปัตยกรรมโดย PLA ,ออกแบบสถาปัตยกรรมภายในโดย PIA Interior และออกแบบแสงสว่างโดย With Light แนวคิดในการออกแบบเป็นจุดเริ่มต้นการก่อรูปหินแกรนิตเทายักษ์หลังนี้ด้วยประเด็นหลักคืองานศิลปะร่วมสมัยภายในเหล่านี้เอง หากเรามองงานศิลปะว่าเป็นภาพ(figure)ส่วนที่ขับให้งานศิลปะเหล่านี้โดดเด่นอย่างเป็นพระเอกในแกลเลอรีนั่นคือพื้นภาพ(ground)นั่นเอง การสร้างให้เกิด figure&ground เป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบทุกพื้นที่ใน MOCA ด้วยเพราะหากเรามองไปยังความจัดจ้านจากผลงานของศิลปินไทยเหล่านี้ จะพบแต่การรวมกันของหลากรูปแบบ หลากเนื้อหาที่มีตั้งแต่แนวเหมือนจริง เหนือจริง นามธรรม วางเรียงต่อๆกันไปตามแกลเลอรี่

เราจะพบการปะทะกันของเส้นสายที่ดุดันอย่างงานของถวัลย์ ดัชนีที่สื่อความฉับไวของการลากพู่กันอย่างฉับพลัน แต่ในขณะที่คอลเลคชันของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นั้นแสนอ่อนหวาน การปะทะกันเหล่านี้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดของหลักการสร้าง figure&ground ที่เรียบง่ายเพื่อไม่ให้บดบังความงามของคอลเลคชันเหล่านี้ เนื้อหาในด้านการออกแบบจึงต้องทำหน้าที่เป็นฉากหลังเท่านั้น และยังต้องประสานกันไปทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรม การออกแบบสเปซภายใน และการให้แสงภายในแต่ละส่วนของMOCAการควบคุมคุณภาพแสงเป็นสิ่งสำคัญ มันเกิดขึ้นอย่างเข้มงวดที่ผสมกันไปทั้งแสงธรรมชาติกับแสงประดิษฐ์ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือส่งเสริมให้งานศิลปะโดดเด่นและให้แสงธรรมชาติไม่ทำลายงานศิลปะภายใน

พื้นที่ใช้สอยภายในเกิดจากการสร้างแกลเลอรีตามการสะสมให้มีเนื้อหาเดียวกัน การออกแบบสเปซจึงเอื้อให้ ground ขับ figure ไปในทุกส่วนการใช้สอยหลัก ดังที่เราจะพบเมื่อเข้าใช้อาคารที่มีการค่อยๆปรับสภาพการรับรู้ของผู้เข้าชมMOCA ที่ค่อยๆลำดับภาพความวุ่นวายของกรุงเทพมหานครออกทีละน้อย จากภาพภายนอกหลักที่ปะทะสายตาเป็นส่วนแรกจากผนังเรียบด้านทิศตะวันออก จนมายังส่วนทางเข้าที่เป็นคอร์ตจากภูมิทัศน์ทั้งกำแพงหนาสูงผสมไปกับทิวต้นไม้ที่เบลอเข้าไปยังสเปซส่วนโถงต้อนรับภายใน คล้ายให้ค่อยๆปรับสภาพการรับรู้จากเมืองวุ่นวายมารับพลังจากงานศิลปะภายใน จวบจนเมื่อพาตัวเองเข้ามายังสเปซส่วนโถงต้อนรับภายใน เราจะพบกับเสกลที่ถูกเลือกใช้เพื่อให้ขับความยิ่งใหญ่ของศิลปะไทยร่วมสมัยด้วยปริมาตรกว่า 38 เมตร สเปซส่วนนี้ถูกออกแบบให้ตัดขาดจากถนนวิภาวดีรังสิตภายนอก อนุญาตเพียงแสงธรรมชาติของกรุงเทพฯเข้ามาเท่านั้น

แสงที่ลอดผ่านช่องแสงขนาดเล็กเพื่อความเข้มของตัวมันเอง แสงลอดผ่านช่องที่เป็นลวดลายก้านมะลิที่สถาปนิกเลือกจะใช้เป็นสัญญะของการแสดงถึงความร่วมสมัยในงานศิลปะ แต่ในปริมาณที่ถูกนำมาใช้อยู่ในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับเสกลของอาคารจึงไม่แลดูขัดแย้งกับพื้นภาพในงานนี้ ช่องแสงเหล่านี้ทำงานร่วมกันกับแสงธรรมชาติในส่วนที่เป็น transition space ของงาน แสงธรรมชาติถูกเจาะลงมาในระนาบด้านข้างทางทิศตะวันออกเป็นหลัก และเจาะเข้ามาเป็นจำนวนมากทางระนาบหลังคาเพื่อให้กลายเป็นแสงแบบ indirectที่สร้างความนุ่มนวลลงมายัง transition space ที่สถาปนิกวางให้เป็นส่วนทางสัญจรแนวดิ่งหลักของอาคาร ทั้งที่เป็นบันไดเลื่อน บันไดหลัก และลิฟท์

transition space ถูกวางเป็นแกนหลักในการให้แต่ละแกลเลอรีเข้ามาเกาะ และเป็นเส้นสัญจรหลักเพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้คนที่เข้ามาเข้าชมทุกส่วน หากเดินทางไปตามเส้นทางนี้จะพบการแกลเลอรีของศิลปินไทยชั้นนำ ที่ชั่นล่างเราจะพบกับห้องนิทรรศการของอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ กับ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ จนผ่านบันไดขึ้นมายังชั้น2 ,3 จะพบความหลากหลายของคอลเลคชั่นของศิลปินหลายท่าน จนมาถึงชั้น4ที่เรียกได้ว่าออกแบบให้เป็นพื้นที่สำคัญและแสดงรสนิยมของนักสะสมกับห้องแสดงงานเฉพาะของถวัลย์ ดัชนี จำนวน 4 ห้องใหญ่ ซึ่งมีการออกแบบให้พิเศษด้วยผนังสีแดงและดำ อันสะท้อนมาจากแนวทางจิตรกรรมของถวัลย์เอง

จากส่วนของห้องแสดงงานนี้แล้วจะพบกับทางเข้าแคบเล็ก แลสลัวไปจนมืดเพื่อการปรับสภาวะการรับรู้จากแกลเลอรีอื่นเพื่อมาพบกับจุดสำคัญสุดของต้นกำเนิดศิลปะคือ’สะพานจักรวาล’ สะพานนี้จะพาเรามาพบกับโถงสูงกว่า11 เมตร อันเป็นผลมาจากการรองรับภาพวาดจากสามศิลปินทั้ง สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสารและประทีป คชบัว ที่มีขนาดภาพสูงกว่า 7 เมตร สเปซส่วนพิเศษเกิดจากการอุปมาอุปมัยถึง’ไตรภูมิ’อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิตทั้งสามโลก และเป็นจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจในงานจำนวนมากของศิลปะไทยจากอดีตจนปัจจุบัน จนเมื่อชมส่วนนี้เสร็จแล้วจึงขึ้นไปยังส่วนชั้น 5 ที่เป็นแกลเลอรีรวมงานศิลปะตะวันตกในห้องริชาร์ด กรีน ที่ตกแต่งอย่างพิเศษเพื่อแสดงถึงความพิเศษของคอลเลคชันนี้ และชั้นนี้ยังรวมไปด้วยงานศิลปะนานาชาติที่คุณบุญชัยสะสมไว้ด้วยเช่นกัน นับว่าส่วนนี้เป็นจุดสิ้นสุดการ’อ่าน’สารของนักสะสมงานศิลปะที่เขาต้องการบอกถึงความสำคัญของศิลปะที่เขารวบรวมไว้และอยากให้ผู้คนที่เข้าชมได้ร่วมเข้าใจ

ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจาก’เหตุ’และเกิด’ผล’ การเกิดขึ้นของ figure&ground ในหลากแกลเลอรีก็เพื่อการ’อ่าน’สารของศิลปิน ที่ต้องส่งข้อความถึงสังคมไทยร่วมสมัยที่เราจะพบวิวัฒนาการในเรื่องราวผ่านสเปซทั้ง5ชั้น จนจบด้วยการผ่านโถงสูง38เมตรอีกครั้งก่อนกลับ ภายในโถงนี้มีประติมากรรมอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ราวกับจะบ่งบอกถึงต้นธารกำเนิดของศิลปะไทยร่วมสมัยที่มีการวางรากฐานจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งภายใต้การเข้าและออกจากMOCAจะต้องผ่านวลีคลาสสิคของชาวหน้าพระลานทั้งเป็นคำละตินและคำไทยว่า “Ars longa,vita brevis” “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เพื่อช่วยตอกย้ำถึงต้นกำเนิดศิลปะไทยร่วมสมัยภายใต้คำนี้นั่นเอง

ขอขอบคุณแอดมินแขก (คุณสาโรช พระวงค์) สำหรับรูปและบทความของงานนี้ด้วยครับ


Spread the love