ย้อนรอย Ennis House, Frank Lloyd Wright

Spread the love

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเขามีการเปิดให้ชมบ้าน Ennis House ซึ่งออกแบบโดย Frank Lloyd Wright เป็นครั้งแรกหลังจากปิดมาเป็นเวลาหลายสิบปีเนื่องจากการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เลยถือโอกาสเก็บภาพมาให้ชมกัน และพูดถึงบ้านหลังนี้กันสักเล็กน้อยครับ

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ Frank Lloyd Wright ออกแบบโดยใช้ textile block ซึ่งเป็นคอนกรีตบล็อกที่มีลวยลายสไตล์ของ Wright  โดยที่หลังนี้ถือว่าเป็นหลังที่ดีและใหญ่ที่สุดในบ้าน textile block ทั้งสี่หลังที่ Wright ออกแบบในแอลเอ โดยที่แรงบันดาลใจนั้นเขาได้มาจากสถาปัตยกรรมของชาวมายา

ก่อนที่บ้านหลังนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 1925 ปรากฎว่า Wright กับเจ้าของบ้านเกิดเรื่องดราม่ากันขึ้น จึงเป็นเหตุทำให้ Wright โดนไล่ออกจากการเป็นสถาปนิก ดังนั้นบ้านหลังนี้ภายนอกนั้นเป็นแบบที่ Wright ออกแบบ แต่ภายในนั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างของ Wright กับเจ้าของบ้านเอง แม้กระทั่งบานกระจก stained glass นั้นก็ไม่ใช้การออกแบบของ Wright แต่เจ้าของสั่งให้ทำเลียนแบบของ Wright มา พวกการออกแบบภายในครัว ห้องน้ำ การเลือกกระเบื้องต่างๆ ผมดูแล้วก็เห็นว่า Wright คงไม่ออกแบบอย่างนี้แน่นอน

ด้วยเหตุที่   textile block ที่เป็นโครงสร้างและผนังหลักของบ้านหลังนี้ทำมาจากหินและดินที่อยู่ตรงที่ตั้งนี้เอง (จะเห็นได้ว่า Wright คิดเรื่อง green มาตั้งแต่สมัยเกือบร้อยปีนู่น) ด้วยเทคโนโลยีและส่วนผสมของการทำคอนกรีตบล็อกที่ยังไม่ก้าวหน้าเท่าไหร่นัก ปรากฏว่าเจ้าคอนกรีตบล็อกเหล่านี้กลับสร้างปัญหาให้กับบ้านอย่างมากมาย ทั้งปัญหาน้ำซึมผ่านเข้ามา หลายก้อนก็ถูกลมฝนกัดกร่อน จนแทบจะไม่เหลือลวดลายของบล็อก

ด้วยความหวังดีที่จะซ่อมแซมบล็อกเหล่านี้ เขาจึงเอาสีและน้ำยากันซึมมาทาเพื่อที่กันไม่ให้น้ำซึมเข้าไป ปรากฎว่ายิ่งร้ายหนักกว่าเก่าคือ น้ำก็ยังซึมเข้าไปได้เหมือนเดิม แต่ทีนี้ระเหยออกไม่ได้ ยิ่งเข้าไปทำลายความแข็งแรงของเหล็กเส้นที่เสริมไว้ตามแนวของคอนกรีตบล็อกเหล่านี้

อย่างไรก็ตามบ้านหลังนี้ก็ยังผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้หลายสิบปี แม้กระทั่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีคนตายไปหลายคนในแอลเอเมื่อปี 1994 แต่มาพลาดท่าเสียหายหนักในปี 2005 ที่มีเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวัน เรียกได้ว่าโครงสร้างของบ้านแทบจะพังลงมาเลยทีเดียว จนทางการต้องสั่งปิดเป็นพื้นที่อันตราย

ต่อมาบ้านนี้ถูกประกาศขายในปี 2009 ด้วยราคา 18.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไปๆมาๆมาจบลงที่ขายได้ในราคา 4.2 ล้านเหรียญในปี 2011 โดยมีข้อแม้ว่าคนที่ซื้อไปจะต้องบูรณะให้กลับมาอยู่ในสภาพดีอย่างเดิมด้วย (เนื่องจากเจ้าของเดิมจ่ายค่าซ่อมไปแล้วกว่า 6 ล้านเหรียญและไม่มีเงินที่จะซ่อมต่อ ซึ่งก็คงต้องใช้เงินอีกเป็นสิบล้านเหรียญและเวลาอีกหลายปีกว่าจะเสร็จ)

ดังนั้นรูปที่เอามาให้ดูในวันนี้จึงเป็นรูปของบ้านที่กำลังอยู่ในช่วงซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ทั้งหลังครับ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นรูป textile block ทั้งของเก่าและของใหม่ปนๆกันไป เสียดายที่เขาไม่ให้ถ่ายรูปภายในบ้าน แต่ก็สามารถดูได้จากกูเกิ้ล หรือยูทูปที่เอามาลงให้ดู สเปซภายในบ้านนั้นก็ยังคงใช้เทคนิคที่ Wright ใช้บ่อยๆคือ ตรงโถงทางเข้าบ้านจะเข้าจากชั้นล่าง ซึ่งฝ้าเพดานตรงนี้จะกดต่ำมาก และจะมีบันไดทางซ้ายมือของโถง ซึ่งเมื่อเดินขึ้นไปแล้วจะเข้าไปสู่อีกโถงหนึ่งที่เปิดโล่งเป็นสเปซที่สูงขึ้นไป เพื่อให้เกิดการตัดกันอย่างแรง อีกอย่างคือบ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรกๆของโลกที่มีการใช้ช่องเปิดเป็นกระจกเข้ามุม หรือ corner window

สเปซภายในที่มีการเปลี่ยนระดับไปมาสูงๆต่ำๆ การใช้ช่องแสงด้านบนเพื่อให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาสู่สเปซภายใน และจังหวะจะโคนของเสา textile block ที่ทำให้เกิดมิติที่น่าสนใจตรงโถงทางเดิน  ผมว่างานนี้ก็สมกับเป็นงาน masterpiece ชิ้นหนึ่งของ Wright ครับ เพียงแต่ว่าบรรยากาศของบ้านนั้นอาจจะดูขึงขังคล้ายๆกับ museum ไปหน่อย

คลิปข้างล่างนี้ถ่ายให้เห็นภายในบ้าน แต่อาจจะต้องปิด function 3D ตรง setting ของยูทูปนะครับ (ยกเว้นถ้าจะดูจากทีวีที่ดูสามมิติได้)

คลิปอีกหนึ่งอัน

ข้อมูลอ้างอิง http://news.domain.com.au/domain/real-estate-news/iconic-us-home-saved-20110722-1hs50.html


Spread the love