พาชมนิทรรศการ Japan in Architecture ที่ Mori Art Museum

Spread the love

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้แวะไปชมนิทรรศการ Japan in Architecture ที่ Mori Art Museum เลยเก็บภาพมาฝากกันครับ วันที่ไปชมนั้นแม้จะเป็นช่วงเย็นๆของวันอาทิตย์ แต่คนที่เข้ามาชมนิทรรศการเยอะพอสมควร ส่วนตัวแล้วผมสนใจงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นมากทีเดียว เพราะสงสัยว่าเขาทำอย่างไร ถึงแม้งานจะทำออกมาโมเดิร์น แต่ก็ยังมีความเป็นญี่ปุ่นให้เห็นได้อย่างชัดเจน แล้วสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของไทยเรา จะมีวิธีแสดงออกมาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมักจะเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างสถาปนิกไทยอยู่เรื่อยๆ

นิทรรศการนี้พูดถึงการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน โดยเขาแบ่งนิทรรศการออกเป็น 9 ส่วน แต่ละส่วนจะพูดถึงแง่มุมที่แตกต่างกันอย่างเช่น ความเป็นไปได้ในการนำไม้มาใช้ในสถาปัตยกรรม, หลังคาแห่งความเงียบสงบ, Hybrid Architecture, การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นต้น

มาดูแผ่นพับที่เขาแจกให้ก่อนครับ รูปที่น่าสนใจคือการนำมาเปรียบเทียบระหว่างศาลเจ้า Itsukushima กับงาน Chapel on the Water ของ Tadao Ando ซึ่งเขาว่าการเคารพในธรรมชาตินั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ

รูปตรงมุมซ้ายล่างนั้นเป็นอาคารในวัด Aizu Sazaedo ซึ่งมีทางลาดภายในเกาะไปกับผนังรอบนอกอาคารขึ้นไปถึงชั้นบนสุด (ประมาณว่า Guggenheim Museum ที่ Frank Lloyd Wright ออกแบบน่ะครับ แต่อันนี้เสร็จก่อนร้อยกว่าปี) เขาว่าอาจจะได้บันดาลใจมาจากภาพลายเส้น Leonardo da Vinci ที่เข้ามาในญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ

ส่วนแรกแสดงถึงความเป็นไปได้ในการในไม้มาใช้ของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น

ผนังไม้นี้เป็นการนำมาสร้างใหม่ของงาน Japan Pavilion ในงาน Expo ที่มิลาน ซึ่งเป็นการดีไซน์การเอาไม้มาล็อคกันได้อย่างเนียนมาก ในส่วนนี้เขาได้นำโมเดลสถาปัตยกรรมประเพณีของญี่ปุ่นมาให้ดูหลายชิ้น แต่พอดีตรงส่วนนี้ถ่ายรูปไม่ได้ครับ

ความงามที่เหนือไปกว่านั้น เขาว่าคุณภาพในการออกแบบและโครงสร้างของงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถที่จะถูกถ่ายทอดด้วยคำว่า “เรียบง่าย” แค่นั้น

งาน Sagawa Art Museum โดย Raku Kichizaemon และ Takenaka Corporation เป็นมิวเซียมใต้สระน้ำ

งาน Atelier-Bisque Doll โดย Maeda Keisuke งานนี้น่าสนใจตรงที่ผนังของอาคารเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ

หลังคาแห่งความเงียบสงบ ตรงนี้มีการเอางาน Shogin TACT Tsuruoka และงาน Nishinoyama House ของ SANAA มาให้ดู

Nishinoyama House  (ดูรูปเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

Shogin TACT Tsuruoka (ดูรูปเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

งานสถาปัตยกรรมดั่งงานฝีมือ ก็เป็นที่รู้กันว่าดีเทลงานญี่ปุ่นนั้นที่สุดแห่งความเนี๊ยบ และฝีมือในการก่อสร้างนี้ทำได้อย่างปราณีตมากครับ

โมเดลการเข้าไม้แบบญี่ปุ่น

ผิวของอาคาร Louis Vuitton  ที่ Ginza โดย Jun Aoki

งาน Expo Japan Pavilion โดย Shigeru Ban

ห้องนี้เป็นการนำเอา tea house จำลองมาจากสมัยไดเมียว ฮิเดโยชิ ซึ่งภายในมีพื้นที่แค่เสื่อทาทามิสองผืนเท่านั้น เขาให้เข้าไปนั่งได้คนละแป๊ปนึงเพื่อสัมผัส “Wabi Space” (ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าคืออะไร วาบิเห็นว่าแปลว่าความไม่สมบูรณ์แบบหรือความเรียบง่าย อาจจะเป็นว่าแบบ Space ในวิถีเซน)

Space ที่ถูกเชื่อมต่อกัน

โมเดลย่อ 1:3 ของงานบ้านที่ออกแบบโดย Kenzo Tange สถาปนิก Pritzker Prize คนแรกของญี่ปุ่น ซึ่งเขาไม่ได้ออกแบบงานบ้านมากนัก งานเหมือนนี้เป็นการตีความใหม่ของพระตำหนัก Katsura ของ Tange

ตรงห้องนี้เขาทำได้น่าสนใจทีเดียว เป็นการพูดถึงเรื่อง Power of Scale โดยเขาจะมีการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสัดส่วนมนุษย์กับการออกแบบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ข้างบนเขาจะมีเส้น fiber optic ฉายแสงให้สัมพันธ์กับภาพบนจอเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสเปซในแบบสามมิติ ประมาณวิดีโอข้างล่างนี้ครับ

โมเดลงาน Gallery of Horyuji Treasures Tokyo โดย Yoshio Taniguchi

งาน Mount Fuji World Heritage Center โดย Shigeru Ban ที่ดูแล้วคล้ายๆกับภูเขาไฟฟูจิกลับหัว รูปงานจริงอยู่ในรูปข้างล่างครับ

ต้องขออภัยที่ไม่ได้เก็บภาพตรงส่วนที่ 6 ถึง 9 ของนิทรรศการมามากนัก เพราะเริ่มจะเดินไม่ไหวครับ

หลังจากชมนิทรรศการเสร็จแล้วถ้ายังมีเวลาเหลือก็มานั่งพักชมวิวโตเกียวต่อได้ครับ ค่าเข้าตรงส่วนนี้รวมไปกับราคาค่าตั๋วของพิพิธภัณฑ์แล้ว

ถ้าท่านใดมีโอกาสได้มาแวะโตเกียวและสนใจในงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นก็น่าจะแวะมาชมนิทรรศการนี้นะครับ เขาจัดถึงวันที่ 17 กันยายนนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เว็บของ Mori Art Museum ที่นี่ ครับ


Spread the love