Food Villa by I Like Design Studio

Spread the love

เรื่อง และ ภาพ : สาโรช พระวงค์
โลกสมัยใหม่ได้ให้อะไรหลายอย่างกับโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการผลิตเพื่อการบริโภคของมนุษยชาติอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดการค้นหาวัตถุดิบมากมายจากทุกแหล่งมุมโลกเพื่อป้อนโรงงานให้กับประเทศอุตสาหกรรม และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยากมากคือ สถาปัตยกรรม จนเกิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในที่สุด จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆในโลกของเราสร้างให้สถาปัตยกรรมตอบสนองโลก วัสดุสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยใหม่ที่ยอดนิยมคือ กระจก คอนกรีต และเหล็ก ทั้งจากสาเหตุที่มันสามารถเอื้อต่อการผลิตซ้ำได้ง่าย แข็งแรง ราคาไม่แพง ความนิยมของวัสดุเหล่านี้จึงแพร่หลายกับรูปแบบ international style ไปยังทั่วทุกมุมโลก ประเทศไทยเราเองก็รับเอาเหล็กมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับคอนกรีตเสริมเหล็ก

เหล็กในงานสถาปัตยกรรมได้รับความนิยมของบ้านเราในฐานะที่เป็นวัสดุหลักมากกว่าคอนกรีตก็ช่วงสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมอุตสาหกรรม  เพราะต้องการความรวดเร็วในการก่อสร้าง เนื่องจากวัสดุเดิมอย่างคอนกรีตเสริมเหล็กใช้เวลาในการก่อสร้างที่นาน  เนื่องจากต้องให้ระยะเวลาจากการบ่มคอนกรีตให้แข็งแรงเพียงพอต่อความแข็งแรงตามมาตรฐานวิศวกรรม  เหล็กสามารถให้ทางเลือกกับสถาปนิกและวิศวกรทั้งเรื่องของความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่เพราะสามารถสร้างเป็นพื้นที่ช่วงพาดกว้างได้ เหล็กสามารถตอบสนองเรื่องความรวดเร็วในการก่อสร้างที่รวดเร็วเนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการบ่ม เมื่อเชื่อมหรือติดตั้งแล้วสามารถใช้งานได้เลย โครงสร้างเหล็กที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมมีทั้งแบบที่นิยมจะห่อหุ้มมันด้วยเปลือกภายนอกจนไม่สามารถเดาได้ว่าวัสดุที่ทำโครงสร้างคืออะไร และแบบที่นิยมแสดงถึงการถักทอโครงเหล็กพร้อมกับรายละเอียดการยึดต่างๆจนเป็นเสน่ห์เฉพาะงานไป

บนถนนราชพฤกษ์ ย่านเกิดใหม่ของกรุงเทพมหานคร มีสถาปัตยกรรมเกิดใหม่หลายชิ้นที่ไม่ได้ยึดโยงตัวเองเข้ากับรูปแบบหรือบริบทใดเฉพาะ เราสามารถพบกับความหลากหลายของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้เกือบทุกยุคสมัย ทั้งที่หยิบยืมภาษาสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคของตะวันตกและตะวันออก แต่เมื่อมาถึงช่วงที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี จะพบกับสถาปัตยกรรมเหล็กที่มีโปรแกรมแบบเดิมๆที่ถูกตีความการใช้งานให้เหมาะกับยุคสมัยคือ’ตลาด’ ในชื่อว่าฟู๊ดวิลลา

ตัวอาคารตลาดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาคารทั้ง 4 กลุ่ม อาคารที่รายล้อมมีทั้งส่วนที่พื้นที่ให้เช่า และร้านกาแฟสตาร์บัค ในความสูงไม่เกิน  2 ชั้น ตัวตลาดมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร รองรับแผงตลาดกว่า 400 แผง สินค้าที่เข้ามาขายมีทั้งของสด ของแห้ง ศูนย์อาหาร  แนวคิดในการออกแบบเริ่มต้นจากที่สถาปนิกต้องการสะท้อนความต้องการของเจ้าของโครงการต้องการให้ตลาดฟู๊ดวิลลามีภาพลักษณ์เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรแลดูกันเองกับผู้คนที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และยังต้องมีความระหว่างเกิดขึ้น ทั้งระหว่างตลาดสดแบบเดิมแต่ไม่หรูจนถึงตลาดแบบที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า โจทย์ของการสร้างบรรยากาศจึงอยู่ที่การสร้างความระหว่างของความคุ้นชินเดิมๆให้มีภาพลักษณ์ตลาดที่น่าใช้มากกว่าเดิม ไม่เป็นตลาดสดแบบที่มีภาพลักษณ์สกปรก น้ำขัง จนไม่น่าใช้งานสู่ตลาดสดที่สมัยใหม่มากขึ้น

สถาปนิกของโครงการนี้คือไอ ไลค์ ดีไซน์ สตูดิโอ ได้เสนอให้ตลาดฟู๊ดวิลลาสะท้อนถึงเรื่องราวของการเป็นแหล่งอาหารของชุมชนด้วยการหยิบยืมลักษณะของโรงนาในฟาร์มในบริบทแบบตะวันตกแบบที่เราคุ้นชินจากสื่อตะวันตกมาใช้ เนื่องจากฟาร์มเป็นสัญญะของการผลิตอาหารทั้งแบบกสิกรรมและปศุสัตว์ที่พ้องกับที่มาของสินค้าที่อยู่ในโปรแกรมนี้ กระบวนการสร้างรูปทรงจึงใช้วิธีดารตัดปะและเรียงรูปด้านของฟาร์มแบบต่างๆเรียงในแนวยาว จนเกิดเป็นรูปด้านที่การเรียงสูงต่ำไม่เท่ากันของยอดจั่ว การซ้อนกันของรูปด้านที่ไม่เท่ากันของแต่ละแบบจะเปิดส่วนซ้อนที่เหลื่อมกันอยู่ ส่วนนี้สถาปนิกทำการเลือกให้เป็นพื้นที่โถงสูงเพื่อระบายอากาศร้อนสู่ช่องระบายอากาศด้านบน

หัวใจของการออกแบบตลาดให้มีสุขอนามัยที่ดีคือการดึงแสงเข้ามาอย่างเหมาะสม พร้อมไปกับการสร้างระบบระบายอากาศให้มีการถ่ายเทได้ดี ไม่อย่างนั้นแล้วตลาดจะพบกับปัญหาอับทึบ จนเป็นตลาดแบบเดิมๆที่แลดูสกปรกไม่น่าเข้าใช้งาน

สถาปนิกได้เลือกที่จะให้แสงเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่คือแผ่นหลังคาโปร่งแสงบนระนาบหลังคาโดยเฉลี่ย 1 แผ่นยาวต่อทุกช่วงเสายาวจนสุดแนวหลังคาเพื่อดึงแสงอาทิตย์ลงมายังสเปซภายในให้เพียงพอต่อการใช้งานในเวลากลางวัน และยังใช้แสงธรรมชาติด้วยการใช้แผ่นโปร่งแสงมาเป็นผนังปิดด้านจั่วตั้งแต่ชายคาจนถึงส่วนปลายชายคาในด้านทิศเหนือของตลาด ทำให้สามารถรับแสงอาทิตย์ในแบบ indirect ได้ตลอดช่วง 8 เดือนต่อปี และสามารถรับแสงเหนือที่ทำมุมไม่แทยงลึกเข้ามายังภายในตลาดมากเป็นเวลา 4 เดือนต่อปี


ในขณะที่ด้านทิศใต้ของตลาดสถาปนิกเลือกใช้แผ่นเหล็กรีดลอนเป็นผนังเพื่อป้องกันแสงอาทิตย์จากทิศใต้ที่ร้อนและมีมุมแทยงลึกจนกวนการใช้สอยภายในได้ ยอดหลังคาและส่วนที่ซ้อนกันสถาปนิกออกแบบให้เป็นช่องระบายอากาศเพื่อรองรับการไหลเวียนของอากาศร้อนที่จะลอยตัวขึ้นสูงและถูกแทนที่ด้วยอากาศเย็นกว่าที่ด้านล่าง พร้อมกันนี้ยังมวลอากาศยังถูกทำให้เคลื่อนที่ด้วยพัดลมขนาดต่างๆภายในตลาด ทั้งขนาดเล็กในระดับล่างที่พัดตามร้านค้าต่างๆ จนถึงการใช้พัดลมขนาดใหญ่ครอบครองพื้นที่กว่า 1  ช่วงเสา ช่วยระบายอากาศอีกทางหนึ่ง

จากจินตนาการของสถาปนิกที่ต้องการสื่อสารถึงโรงนาในฟาร์มด้วยรูปด้านหน้า พร้อมกับยืดออกไปจนถึงรูปด้านหลัง การเลือกใช้เหล็กมีข้อดีอย่างมากในการเสริมสร้างพื้นที่ทางจินตนาการส่วนนี้ เนื่องจากการซ้อนทับกันของโรงนาในหลายรูปแบบที่สถาปนิกเลือก ก่อให้เกิดจุดตัดกันของโครงสร้างเยอะมากเมื่อเทียบกันการใช้วัสดุอื่น การใช้เหล็กตอบสนองได้ตั้งแต่เรื่องของการใช้เสาที่ตลาดนี้มีความต้องการใช้พื้นที่ให้ยืดหยุ่นและกว้าง เสาที่วางไว้ในระบบกริดจึงถูกออกแบบให้มีระยะห่างกันไปตามการใช้สอย พร้อมไปกับการออกแบบหลังคาที่มีการยกระดับแตกต่างกันเพื่อรองรับเรื่องการระบายอากาศ การใช้โครงสร้างเหล็กถักทอให้รองรับรูปทรงเหล่านี้จึงมีความเหมาะสมอย่างมาก นอกจากนี้วัสดุมุงและวัสดุปิดผิวเองก็ต้องการวัสดุที่ตอบสนองเรื่องความรวดเร็วและรองรับพื้นที่กว้าง การใช้แผ่นเหล็กรีดลอนจึงสามารถตอบโจทย์ได้อย่างมาก

การออกแบบสถาปัตยกรรมเหล็กจึงเป็นส่วนผสมกันด้วยความลงตัวทั้งสถาปนิกและวิศวกร เพราะการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับยุคสมัยและโจทย์จะช่วยให้สถาปัตยกรรมตอบปัญหาของสังคมในเวลานั้นๆได้ เหมือนกับที่งานนี้ได้ตอบโจทย์ที่เจ้าของงานและสถาปนิกวางไว้ร่วมกัน ซึ่งสถาปนิกได้เอ่ยถึงการเลือกใช้เหล็กที่ส่งผลต่อการทำงานว่า “การเลือกใช้เหล็กในการสร้างงาน ส่งผลเรื่องการสร้าง Mass and form โครงสร้างเหล็กสามารถตอบโจทย์การสร้าง Form ได้มากกว่า มีอิสระทางความคิดมากกว่า ประกอบกับมีประโยชน์ในช่วงงานก่อสร้างที่ก่อสร้างค่อนข้างเร็ว สามารถเตรียมชิ้นส่วนโครงสร้างจากโรงงานและมาติดตั้งที่หน้างานได้”

Food Villa Ratchaphuek
Location : ถนนราชพฤกษ์ กรุงเทพมหานคร
Architects : I Like Design Studio
ข้อมูลจาก ASA journal 04.2016

ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับภาพและบทความของงานนี้ด้วยครับ