Spread the love
หลังจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิตต้องการสร้างอาคารสถาบันไทย-จีน เพื่อรองรับกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกับจีนในแบบต่างๆ อาคารแห่งนี้จึงไม่ธรรมดาด้วยแนวคิดที่มหาวิทยาลัยรังสิตมอบหมายให้ Studiomake สถาปนิกที่ออกแบบ “ศาลากวนอิม” (อาคารสถาบันไทย-จีนแห่งนี้มีประติมากรรมเจ้าแม่กวนอิมตั้งอยู่ จึงเป็นที่มาของชื่อศาลากวนอิม) ทำวิจัยงานนี้ให้สามารถลอยน้ำได้เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง การวิจัยในครั้งนี้นำไปสู่คำตอบที่ออกแบบให้พื้นที่ภายนอกเหมือนเป็นดั่งโป๊ะเรือ พื้นภายในเป็นอิสระกับโครงสร้างเสา เมื่อน้ำท่วมใหญ่กลับมาตัวพื้นจะสามารถลอยขึ้นลงได้ตามระดับน้ำ แม้ว่าในขั้นสุดท้ายจะไม่สามารถพัฒนาให้การลอยน้ำได้บรรลุตามจุดประสงค์เดิม แต่ศาลากวนอิมหลังนี้มีแง่มุมน่าสนใจอีกหลายด้านจนเป็นจุดเด่นเช่นกัน
จุดเด่นของศาลากวนอิมที่สามารถสร้างภาพให้จดจำได้จากระยะไกล คือการใช้หลังคาเรียบบางที่มีปลายแหลมงอนตรงกลาง มีกลิ่นอายความเป็นจีนจากความแอ่นของหลังคาแบบสถาปัตยกรรมจีนประเพณี แต่แลดูทันสมัยด้วยการลดทอนรายละเอียด โครงสร้างส่วนหลังคานี้เป็นผืนคอนกรีตแบบ Flat slab ที่ใช้วิธีแบบ POST TENSION ทำให้ได้แผ่นหลังคาคอนกรีตที่เรียบบางพร้อมกับมีช่วงเสาที่กว้างรองรับกิจกรรมได้หลากหลายตามจุดประสงค์ที่ให้เป็นห้องนิทรรศการ สถาปนิกเพิ่มลูกเล่นด้วยการใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์แผ่นยาวเป็นแบบหล่อท้องพื้นหลังคา ใช้เป็นแผ่นยาวตีสลับแนวคล้ายลายอิฐก่อ จนเมื่อเทคอนกรีตจนเกิดการเซ็ตตัวเต็มที่แล้ว จึงดึงไม้แบบออกจะเกิดลวดลายกลายเป็นฝ้าคอนกรีตเปลือยที่มีเสน่ห์จากเทคนิคก่อสร้าง พร้อมกับช่วยลดสเกลของผืนฝ้าขนาดใหญ่ลงไปพร้อมกัน
อีกจุดเด่นของงานนี้ที่สามารถสร้างภาพที่ง่ายต่อการจดจำด้วยการใช้อิฐสั่งทำพิเศษที่มีรูปทรงคล้ายหลังคาคือมีปลายแหลมงอน เนื่องจากสถาปนิกต้องการให้เปลือกภายนอกที่เป็นผนังอิฐเผาก่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงสถาปัตยกรรมจีนที่เป็นสีเทาจากอิฐก่อในแบบจีนที่เราคุ้นชิน แต่อิฐเผาของไทยเป็นสีแดงเพราะว่าดินแต่ละแห่งมีคุณสมบัติที่ต่างกัน ทางเลือกของสถาปนิกจึงสั่งทำอิฐกับโรงงานผู้ผลิตอิฐ เพื่อให้อิฐมีรูปทรงพิเศษตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้ทางผู้ผลิตสามารถเผาให้อิฐมีสีเทาได้ด้วยการใช้วิธีเผาอิฐสองครั้งเพื่อลดออกซิเจนในอิฐทำให้เป็นสีเทาในที่สุด อิฐเหล่านี้ถูกเรียงในแนวตั้งรายรอบผนังกระจกของห้องอเนกประสงค์ทำหน้าที่เป็นเปลือกที่พรางแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในรูปแบบการเรียงอิฐส่วนนี้มีความพิเศษจากเทคนิคการเรียงอิฐที่สูงชะลูดด้วยการใช้เหล็กเสริมร้อยระหว่างแผ่นอิฐในแนวดิ่ง การร้อยเหล็กเส้นในแนวตั้งให้เป็นแนวเดียวกัน พร้อมกับใช้เหล็กปลอกรัดอิฐทั้ง 6 ก้อนพร้อมเหล็กเส้นแนวตั้ง และยังเสริมความแข็งแรงด้วยการเพิ่มค้ำยันเหล็ก C Channel ในด้านบน นอกจากนี้เหล็กนี้ยังทำหน้าที่ป้องกันการโก่งของเสากลมคอนกรีตเปลือยที่มีรูปทรงชะลูดด้วยเช่นกัน
การออกแบบเลือกใช้วัสดุที่มีความพิเศษคือฝ้าของส่วนโถงนิทรรศการ เมื่อมองผิวเผินจะคิดว่าเป็นแผ่นโลหะแบบ perforated ในตารางกริด แต่เมื่อเปิดไฟให้แสงสว่างทะลุออกมาแล้วจึงพบว่ามันคือฝ้าโปร่งแสงที่ทำจากผ้าชนิดหนึ่ง เรียกว่า ฝ้าผ้า PVDF ของ POLYMAR® scrim cristal สีขาว ผลลัพท์ที่ได้ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมทำให้เวลากลางคืนเมื่อเปิดไฟในห้องนิทรรศการจะช่วยให้ผืนหลังคาคอนกรีตดูลอยออกมาอย่างชัดเจนจากอาคาร ยิ่งเมื่ออาคารวางบนน้ำยิ่งช่วยให้ดูเบาลอยมากขึ้น
แม้ว่ารูปทรงจะชวนให้หวนคิดถึงร่องรอยจากอดีตในสถาปัตยกรรมจีน แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ากับโปรแกรมปัจจุบันทำให้งานนี้แตกต่างอย่างน่าสนใจ
ข้อมูลจาก https://www.scgbuildingmaterials.com/th/LivingIdea/ArchitectLifestyle/Guan-Yin-Pavilion.aspx
ขอขอบคุณแอดมินแขกที่ส่งรูปและบทความงานนี้มาให้ด้วยครับ
Spread the love