พื้นที่การเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 ได้ถูกตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าจะเป็นแค่ห้องที่มีกระดานดำพร้อมกับอาจารย์พูดในสิ่งที่คนในรุ่นใหม่อย่างเจนวาย (Gen Y) ไม่อยากรับการเรียนรู้แบบนี้อีก การเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมเช่นกัน หากมองประเทศที่มีการจัดลำดับว่ามีการศึกษาที่ดีของโลก ประเทศในแถบเอเชียก็มีญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ได้นำการศึกษาออกจากระบบที่ล้าสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ
สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก เกิดใหม่ แต่ปัจจัยที่ทำให้การเรียนการสอนสามารถก้าวกระโดดกว่าหลายประเทศรอบตัวได้ คือ ความกล้าลงทุนในด้านการศึกษาและวิจัย โดยให้มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของอังกฤษมาวางระบบการศึกษาใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาดีขึ้นทันตาเห็น หรืออาจจะเป็นเพราะแนวคิดที่ไม่ต้องให้เด็กมานั่งอุดอู้แล้วท่องจำตามทฤษฎีที่ไม่แน่ใจว่าถูกผิดอย่างไร แต่สอนให้คนคิดผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น แบบที่เรียกว่า “Teach Less, Learn More (TLLM)” แนวคิดการเรียนแบบนี้มุ่งให้ผู้เรียนได้เพิ่มปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดของตนเอง ลดบทบาทของครูผู้สอนให้เป็นผู้ชี้นำแทน ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ผู้ที่จบการศึกษาระบบนี้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
จากปรัชญาเหล่านี้จึงผลักให้สถาปัตยกรรมด้านการเรียนของประเทศสิงคโปร์มีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างเช่นอาคารเรียนหลังใหม่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง( Nanyang Technological University)ในชื่อว่า “Learning Hub” หรือชื่อเล่นว่า “อาคารติ่มซำ” ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Heatherwick Studio และมีที่ปรึกษาด้านการออกแบบในสิงคโปร์ CPG Consultants โดย Vivien Leong การออกแบบงานนี้ทำเพื่อรองรับนักศึกษา 33,000 คน ในแนวทางที่รองรับแนวคิดเรียนให้น้อยทำให้มาก อย่างเช่นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยก่อนการเรียนการสอนจะเริ่มขึ้น อาจารย์จะทำการอัพโหลดเนื้อหาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ ให้นักศึกษาแต่ละคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ตามสะดวกของแต่ละปัจเจก ไม่จำเป็นต้องรอที่จะเข้าถึงบทเรียนในคาบเท่านั้น การใช้วิธีนี้ส่งผลให้เกิดการจัดห้องเรียนที่มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับผู้เรียนเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ราว 6-8 คน เพื่อให้ถกเถียง ตั้งคำถาม มากกว่าจะมาฟังว่าอาจารย์จะบอกอะไรเพียงด้านเดียว ซึ่งวิธีนี้ทางมหาวิทยาลัยเรียกว่า “flipped classroom”
จากการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนไปของโลกแล้ว สถาปนิกได้ตีความเป็นการสร้างพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ไปพร้อมกับการก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันของผู้เข้าใช้อาคารหลังนี้ รวมทั้งการสร้างพื้นที่ให้เกิดสภาวะสบายด้วยคอร์ตขนาดยาวสูงกว่า 8 ชั้นเพื่อระบายอากาศร้อนจากชั้นล่างสู่ชั้นบน นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องหายใจจากรอยต่อของแต่ละก้อนเป็นซอกระบายอากาศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การที่เน้นไปยังการสร้างสภาพแวดล้อมภายในให้มีปฏิสัมพันธ์ก่อเกิดรูปทรงที่ทึบตัน ไม่เชื่อมเข้าหาสเปซภายนอกมากกว่าสถาปัตยกรรมทางการศึกษาแบบอื่นในสิงคโปร์
ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ และต้องการสร้างให้ตัวเองเป็น hub ในภูมิภาคของอุษาคเนย์ การลงทุนต่อสถาปัตยกรรมที่จะเป็นหน้าตาของประเทศจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลนัก การสร้างสเปซในคอร์ตเป็นการใช้พื้นที่มีพลวัต (dynamic) สูงกว่าภายนอก โครงสร้างภายในคอร์ตจึงห่อหุ้มกับสเปซที่โค้งเว้าไปมา ส่งผลให้โครงสร้างเสาภายในสุดค่อยๆ ดัดโค้งไปตามการยื่นเข้าออกของพื้นแต่ละชั้น ที่ต้องการให้เกิดการลื่นไหลของสเปซให้ผู้คนมาพบเจอกันมากที่สุด ปกติแล้วการออกแบบเสาจะมีจุดประสงค์เพื่อรับแรงอัดให้ดีที่สุด จึงถูกออกแบบให้ต่อต้านแรงโน้มถ่วงโลกด้วยการตั้งฉากกับพื้นโลกให้มากที่สุด รูปทรงภายนอกออกแบบให้พื้นแต่ละชั้นยื่นเข้าออกคล้ายการวางถาดติ่มซำที่เขยื้อนขยักไปมา เสาภายนอกที่ต้องรองรับพื้นยื่นแต่ละชั้นแล้ว ยังต้องรองรับผนังคอนกรีตหล่อสำเร็จด้วยเสาที่โค้งตามการเอียงไปมาด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้เสาคอนกรีตมีพฤติกรรมการรับน้ำหนักตามการใช้สอยแบบใหม่นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างที่น่าสนใจจากการใช้ผนังที่มีความพิเศษจากผนังที่เป็น “Prefabricated concrete panels” หรือผนังที่ทำการหล่อสำเร็จก่อนนำมาติดตั้งในไซต์งานเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบนี้ทำมานานแล้วในต่างประเทศเพราะปัญหาเรื่องค่าแรงที่สูง แต่บ้านเราเพิ่งได้รับความนิยมในการก่อสร้างเพราะปัจจุบันราคาค่าแรงในบ้านเราสูงขึ้นจากปัจจัยค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งยังประสบปัญหาจากการขาดแรงงาน เรื่องราวเหล่านี้จึงผลักดันให้เกิดความนิยมในการใช้ผนัง Prefabricated concrete มากขึ้นกว่าการใช้ผนังระบบเปียกแบบเดิมหรือการใช้ผนังคอนกรีตแบบหล่อในที่ซึ่งยากต่อการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง และเทคโนโลยีนี้ยังสามารถสร้างลวดลายที่มีความหลากหลายได้เป็นพิเศษ สามารถควบคุณภาพงานได้เพราะเป็นการหล่อคอนกรีตจากโรงงาน โดยเฉพาะถ้าใช้แบบหล่อที่ทำจากวัสดุพิเศษนอกเหนือจากไม้อัดหรือเหล็กที่เคยใช้มาประจำแล้ว อย่างในกรณีนี้สถาปนิกเลือกการออกแบบลวดลายให้พิเศษจากศิลปิน Sara Fanelliด้วยการใช้แบบหล่อพิเศษจากซิลิโคนให้สามารถสร้างลวดลายพิเศษที่สื่อสารไปยังผู้ใช้อาคารด้วยการใช้ภาพเขียนที่ออกแบบมาเฉพาะ คอนกรีตในแบบหล่อจะไหลไปตามแบบหล่อเกิดมิติจากแสงเงาในแต่ละช่วงเวลาของวัน ขับให้งานนี้มีความพิเศษ เป็นบรรยากาศที่ขับเคลื่อนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อนักศึกษามากขึ้นจากเทคโนโลยีการก่อสร้างที่พิเศษนี้
เทคโนโลยีช่วยจึงให้สถาปัตยกรรมมีความพิเศษมากขึ้น ไปพร้อมกับรองรับแนวคิดสมัยใหม่ได้เช่นกัน
*การเดินทางมายังตึกติ่มซำ สามารถเดินทางจากตัวเมืองมาได้โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว(EW) โดยลงมาที่สถานี PIONEER จากนั้นเดินลงมารอรถรถโดยสารรับส่งของมหาวิทยาลัยหนานหยางที่Jurong West Street 63 ให้สังเกตป้ายว่า NTU QUEUE รถโดยสารจะออกทุก 15 นาที และฟรีครับ แนะนำว่าไปแล้วควรแวะลงดู Green Roof ที่อาคารSchool Of Art, Design and Media ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางก่อนจะไปตึกติ่มซำด้วยจะคุ้มมาก
ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับภาพและบทความของงานนี้ด้วยครับ