ไม่ไกลนักจากกรุงเทพมหานครราว 200 กิโลเมตรขึ้นไปทางอีสาน จะพบกับแหล่งพักผ่อนยอดนิยมของชาวกรุงคือเขาใหญ่ ผู้คนในกรุงเทพนิยมไปเขาใหญ่เพราะใช้เวลาเดินทางไม่นานมาก และการเดินทางไม่นานนักจะพบกับความสงบเรียบง่ายจากเขาใหญ่ที่มีอากาศดี การเดินทางมายังส่วนที่มีโรงแรม รีสอร์ต จะต้องตัดความวุ่นวายของถนนมิตรภาพเข้ามายังถนนผ่านศึก-กุดคล้า ที่มีทิวเขาหินปูนเรียงรายเป็นระยะ จวบจนผ่านถึงกลางทางก่อนไปยังถนนธนรัชต์ จะพบสถานที่สำหรับปลีกความวุ่นวายของกรุงเทพในหลายรูปแบบของโรงแรม
จากริมถนนจะพบกับโรงแรมที่มีก้อนสีขาวลอยตัวตัวเองจากธรรมชาติโดยรอบ เมื่อพาตัวเองเลี้ยวเข้าไปจอดรถจึงเริ่มที่เข้าสู้พื้นที่โรงแรมเอสเคป เขาใหญ่ เนื่องจากโปรแกรมในที่ตั้งมีการซ้อนทับของส่วนใช้สอยด้านหน้าที่เป็นโรงแรม และด้านหลัง ด้านข้างที่ดินเป็นคอนโดมิเนียม: 23° ในที่ดินผืนใหญ่นี้ถูกพัฒนาด้วยแสนสิริ แต่ในคราวนี้เป็นการพัฒนาที่ดินเป็นทั้งที่พักอาศัยรวมไปพร้อมกับโรงแรมกลางเขาใหญ่ ในส่วนของโรงแรมเอสเคปตั้งอยู่บนที่ดินแนวยาวเกือบ 300 เมตร ตามทิศเหนือ-ใต้ การออกแบบด้วยรูปทรงสมัยใหม่ช่วยให้ตัวโครงการโดดเด่นขึ้นมาจากสภาพโดยรอบของเขาใหญ่ แต่ถูกทำให้กลมกลืนขึ้นด้วยใช้ภูมิทัศน์เข้ามา สถาปนิกที่รับหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมคือ SPA+A Architecture Co.,ltd ภูมิสถาปนิกคือ Shma Co.,ltd
สถาปนิกแบ่งการวางผังแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนอาคารหลักที่บรรจุส่วนต้อนรับ ห้องประชุม ภัตตาคาร ส่วนห้องพักที่มีจำนวน 2 อาคาร และส่วนวิลลา 1 อาคาร การเชื่อมต่อแต่ละอาคารถูกเชื่อมด้วยงานภูมิทัศน์ ประเด็นการออกแบบภูมิทัศน์มีส่วนช่วยเสริมโครงการอย่างมาก ภูมิสถาปนิกเลือกที่จะหยิบเรื่องราวรอบตัวจากเขาใหญ่มาใช้เป็นแรงบันดาลใจจากแนวเขาหินปูนของเขาใหญ่ที่มีลักษณะซ้อนกันเป็นขยัก จากเส้นสายที่มีลักษณะไม่เป็นระเบียบเหล่านี้ ภูมิสถาปนิกได้จำลองพร้อมทาบลงบนที่ดินเป็นการสร้างภูเขาจำลองลงบนที่ตั้งด้วยเส้นสายที่มีลักษณะไม่เป็นระเบียบขยักไปตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ
ในเรื่องของการสร้างระดับความสูงได้ออกแบบให้เส้นทางสัญจรจากอาคารหลักเป็นเส้นลำเลียงน้ำลงไปยังแอ่งน้ำในโครงการเพื่อไว้ใช้สอยในหน้าแล้ง ในการเลือกใช้พืชพันธุ์จากภูมิสถาปนิกเน้นไปที่การใช้ต้นไม้ในท้องถิ่น ในแต่ละส่วนของโครงการจึงเต็มไปด้วยร่มเงาจากไม้ใหญ่ที่คุ้นเคยอย่างเช่นต้นจิก หรือการเลือกใช้พืชที่ส่งเสริมต่อระบบนิเวศของที่ตั้งอย่างการปลูกต้นถั่วบราซิลเพื่อคลุมดินในส่วนที่มีการลาดเอียงเพื่อป้องกันดินไหล แม้ว่าพื้นที่พักผ่อนหลักที่ดูเป็นไฮไลท์ของโครงการคือลานรอบกองไฟที่ออกแบบให้มีกระจกล้อมรอบ ลานนี้ถูกรายรอบด้วย reflecting pool ซึ่งช่วยให้พื้นที่มีความสงบมากขึ้น จากการยกระดับพื้นที่ส่วนนี้ให้อยู่บนส่วนออกกำลังกายประมาณ 4 เมตรจากถนนด้านหน้า ทำให้พื้นที่นี้มีลักษณะเปิด-ปิดแบบเลือนลางบางส่วนเพื่อสร้างสภาวะส่วนตัวจากถนนด้านหน้าโครงการ การยกระดับส่วนลานพักผ่อนด้านทิศใต้ของส่วนต้อนรับช่วยให้สายตาพ้นไปจากระดับหลังคารถได้ มีเพียงเสียงเล็กน้อยที่ลอดผ่านต้นไม้มาเป็นระยะ
อาคารส่วนแรกที่พบเมื่อเข้ามายังโครงการคือส่วนต้อนรับ สถาปนิกออกแบบให้เป็นก้อนสีขาวลอยออกมาจากสภาพแวดล้อมของเขาใหญ่ด้วยสีและขนาด แต่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการบังทิวทัศน์ด้วยให้พื้นที่ชั้นล่างกลายเป็นกรอบภาพที่เน้นวิวด้านหลังเหนือลานพักผ่อนรอบกองไฟ กรอบภาพนี้ถูกทำให้เบาลอยด้วยการใช้โครงสร้างที่มีการออกแบบให้ลอยขึ้นจากการใช้เสาขนาด 1.40 x 3.50 เมตรรับน้ำหนักพื้นที่ชั้น 2 ส่วนปลายทั้งหมดพร้อมกับออกแบบให้เป็นพื้นบนคานยื่นโดยรอบ ผลลัพธ์จึงทำให้ตัวอาคารต้อนรับที่เป็นความประทับใจแรกของโรงแรมมีความพิเศษเป็นกรอบภาพที่ลอยตัวออกมา ช่วยลดความอึดอัดให้กับโครงการ จากส่วนทางเข้าที่พบกับต้นจิกยักษ์ล่วงเข้ามาจึงพบกับบันไดขึ้นไปยังภัตตาคารชั้นบนและเชื่อมต่อไปยังดาดฟ้าเอนกประสงค์ที่รับวิวเขาใหญ่แบบ 360° พ้นจากกรอบภาพสถาปัตยกรรมจึงจะพบลานพักผ่อนรอบกองไฟที่เป็นส่วนยอดนิยมของโครงการ ต่อจากนั้นเส้นสัญจรของโครงการจึงพาไปยังอีก 2 ส่วนที่เหลือคือโรงแรมแบบห้องและวิลลา
โรงแรมแบบห้องจะมี 2 อาคารรวมทั้งหมดจำนวน 48 ห้องในชื่อว่าดีลักซ์ การออกแบบพื้นที่ภายในส่วนนี้มีส่วนใช้สอยครบตามที่การพักผ่อนควรจะเป็น แต่รูปแบบที่เปลี่ยนไปจากโรงแรมแบบเดิมที่เราคุ้นชินคือขนาดพื้นที่ห้องมีขนาดเล็กลงกระชับขึ้นคล้ายห้องแบบคอนโดมิเนียมในเมืองมากกว่าโรงแรมในสถานที่ตากอากาศแบบทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาด 25 ตารางเมตร ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้การออกแบบภูมิทัศน์จึงสำคัญเพื่อผลักให้ผู้คนที่มาพักมีส่วนรวมกับพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้นหรือการขับรถออกไปมีกิจกรรมกับท้องถิ่นมากขึ้นตามรูปแบบการท่องเที่ยวสมัยใหม่
ถัดไปจากส่วนโรงแรมแบบไปสุดที่ตั้งจะเป็นอาคารวิลลาแบบสระส่วนตัวจำนวน 6 ห้อง ส่วนนี้จะได้วิวดีที่สุดในโครงการเนื่องจากส่วนของสระว่ายน้ำด้านระเบียงจะหันออกไปยังแอ่งน้ำที่รับน้ำจากโครงการและสระว่ายน้ำของโครงการที่มีวิวของแผงเขาใหญ่เป็นฉากหลัง ความพิเศษอีกส่วนคือพูลวิลลาเหล่านี้มีการออกแบบให้หลังคาเป็นดาดฟ้า ทำให้สามารถรองรับกิจกรรมปาร์ตี้ของผู้มาพักวิลลาได้ ด้วยวิวพาโนรามาของเขาใหญ่
แนวคิดที่สถาปนิกต้องการสื่อคือการออกแบบให้มีความรู้สึกสงบ จากการสอดแทรกสถาปัตยกรรมเข้ากับธรรมชาติให้สถาปัตยกรรมเป็นฉากหลังให้ต้นไม้ ภูเขา ชัดเจนขึ้น จากแนวคิดนี้เมื่อผู้เขียนได้มาเยือนจึงพบกับความสงบของบริบทโดยรอบที่ตัวสถาปัตยกรรมตั้งอยู่ในส่วนที่ต้องค่อยๆเดินทางมาจนเจอโรงแรมที่แยกตัวเองจากส่วนวุ่นวายของเขาใหญ่ช่วยให้เกิดความสงบได้ง่าย สถาปัตยกรรมจึงมีหน้าที่ส่งเสริมความสงบให้ชัดเจนมากขึ้นด้วยเทคนิคการวางผังที่ซ่อนส่วนห้องพักให้มีกันชนจากการประดิษฐ์ธรรมชาติจากภูมิทัศน์ให้ความสงบเกิดชัดเจนขึ้น
ส่วนหัวใจที่บำรุงความสงบอยู่ที่ลานพักผ่อนรองกองไฟที่เป็นส่วนพบได้ส่วนแรกและมีน้ำจากสระโดยรอบขับความเด่นชัดตรงนี้ขึ้นมา ในแง่การออกแบบภูมิทัศน์ที่แม้ว่าจะมีโปรแกรมที่ซ้อนกันไปทั้งคอนโดมิเนียมและโรงแรมในที่ดินผืนเดียวกัน การซอยตามส่วนใช้สอยอย่างชัดเจนจะทำให้โครงการมีความอึดอัดมาก การออกแบบภูมิทัศน์ที่ใช้องค์ประกอบอย่างระนาบต่างๆที่เป็นรั้วเตี้ย เหล็กโปร่ง ต้นไม้ ช่วยให้เกิดความกลมกลืนได้ง่าย เมื่อเข้ามายังโครงการจะเกิดเอกภาพได้ง่ายนอกจากเรื่องของรูปแบบสถาปัตยกรรม ชื่อเอสเคปของโรงแรมนี้จึงมีนัยยะถึงการหนีตัวตนในเมืองกรุงเทพ มาพักในอีกความสงบที่เป็นกรุงในเขาใหญ่
ความสงบที่รายรอบด้วยเขาใหญ่ทำให้ครุ่นคิดถึงคำของนักเขียนนามอุโฆษ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ว่า “ใครก็ได้หยุดกรุงเทพที ผมจะลง”
บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารอาษา ISSUE 04:58
สาโรช พระวงค์ / Xaroj Phrawong
สถ.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ สถ.ม.มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ประจำและรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และอาจารย์พิเศษในสถาบันอื่นๆ
ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับภาพและบทความงานนี้ด้วยครับ