สถาปัตยกรรมดินในประเทศไทยจัดมีน้อยมาก เนื่องจากการใช้ดินสร้างสถาปัตยกรรมไม่เหมาะกับเมืองร้อนชื้นที่มากไปด้วยฝน เราจะสามารถพบสถาปัตยกรรมดินมากในแถบที่ฝนตกน้อย แต่เสน่ห์ของดินที่มีความงามแบบสัจจะจากเนื้อวัสดุ แค่เพียงความงามดิบเรียบง่ายของดินสามารถทำให้สถาปนิกเลือกที่จะใช้ในงาน และเทคนิคก่อสร้างที่น่าสนใจอีกแบบที่เป็นริ้วลายของการก่อสร้างจากการอัดดินทีละชั้นของผนังดินอัด (rammed earth) ทำให้สถาปัตยกรรมมีความน่าสนใจขึ้นมากกว่าวัสดุอุตสาหกรรมทั่วไปได้
ไม่ไกลนักจากสนามบินสุวรรณภูมิบนถนนสุขาภิบาล 2 เป็นที่ตั้งของโครงการป่าในกรุง โดย ปตท.ในเนื้อที่กว่า 12 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวาที่ทางปตท.ตัดสินใจปลูกป่าตามทฤษฏีการฟื้นฟูป่าธรรมชาติของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิในป่ากลางกรุงนี้เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดคลุมตั้งแต่ทางเข้าอย่างหนาแน่นจนห่มคลุมสถาปัตยกรรมด้านหลังที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กับสวนเลย เมื่อเดินเข้ามายังภายในโครงการป่ากลางกรุงจะพบกับอาคารขนาดไม่ใหญ่นักที่มีลักษณะเป็นริ้วสีแดงเข้มจากผนังดินอัด ซึ่งเป็นอาคารหลักที่รองรับกิจกรรมอันเกิดขึ้นในสวนป่ากลางกรุงออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Spacetime ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโดยภูมิสถาปนิกกรุงเทพและสร้างสรรค์ผนังดินอัดโดย ลาแตร์
อาคารนี้รองรับกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมการเข้ามาเรียนรู้สวนป่าทั้งการจัดนิทรรศการ ประชุม ห้องน้ำ และสำนักงาน พร้อมกับใช้ดาดฟ้าเป็นสวนหลังคาอีกด้วย สถาปนิกออกแบบให้ทางเข้าที่อยู่ทางทิศใต้เป็นผนังทึบตันมีเพียงทางเข้าไม่ใหญ่เพื่อสร้างสภาวะการเตรียมตัวเข้าสู่การเปลี่ยนประสบการณ์จากสเปซในอาคาร จนหลุดพ้นทางเข้ามาจะพบกับผนังดินอัดที่ยาวกว่า 60 เมตร หนา 45 เซนติเมตร และมีความสูง 6.50 เมตร ขั้นตอนการทำผนังดินอัด (rammed earth) สำหรับงานนี้คือการตั้งแบบหล่อให้พร้อมด้วย แบบหล่อที่ใช้เป็นไม้อัดดำแบบใช้กับงานคอนกรีตเปลือย จากนั้นนำส่วนผสมที่ทำจากซีเมนต์ 1 ส่วนต่อดินบดละเอียด 9 ส่วนผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นเติมส่วนผสมดังกล่าวในแบบหล่อผนังโรยส่วนผสมในความหนาของชั้นที่ 15 เซนติเมตรจากนั้นอัดให้เหลือ 5 เซนติเมตรจากนั้นทำขั้นตอนนี้ซ้ำไปจนกว่าจะได้ตามแบบที่ต้องการผลลัพธ์ที่พบเห็นได้ชัดเจนจากงานนี้คือริ้วยาวของผนังดินอัดเป็นชั้นเส้นนอนยาวไปกับผนังก่อเป็นความงามจากวัสดุดิน แม้จะมีบางส่วนที่เรียบร้อยบ้าง แต่ให้คุณค่าความแบบวาบิซาบิอย่างมาก
ภายในผนังโค้งยาวสถาปนิกออกแบบให้เป็นสเปซเปลี่ยนถ่าย เพื่อพาผู้ใช้สร้างประสบการณ์ใหม่จากโลกภายนอกสู่ภายใน ผ่านส่วนผนังดินสีแดงเข้มจะถ่ายไปสู่กิจกรรมส่วนอ่าน ทางทิศตะวันตกจะเป็นส่วนบริการทั้งสำนักงานและห้องน้ำ จากสเปซในผนังโค้งเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่โถงด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นห้องประชุมและส่วนจัดนิทรรศการถูกออกแบบให้เป็นกรอบภาพไปยังสวนด้านหลังที่มีทางเดินในระดับต่างๆเพื่อศึกษาต้นไม้ระดับต่างๆทั้งแต่โคนจนถึงยอดและจบที่การขึ้นไปยังหอสูงชมวิวด้านในสุด สเปซส่วนนี้ถูกสร้างความพิเศษด้วยการเติมต้นยางนาซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองที่ภูมิสถาปนิกตั้งในเน้นถึง ภาพรวมการออกแบบอาคารดินอัดสถาปนิกออกแบบสถาปัตยกรรมให้กลืนหายไปกับงานภูมิทัศน์ ต้นไม้ต่างๆมากกว่าที่จะแสดงตัวออกสู่ภายนอก ความชัดเจนของดินอัดเผยตัวออกมาชัดเจนเมื่ออยู่ภายในบริเวณทางเข้าที่เป็นเส้นโค้งยาว
จวบจนเมื่อออกจากอาคารนี้ไปแล้วทำให้พบว่าสถาปัตยกรรมมีบทบาทน้อยกว่าธรรมชาติในโครงการมาก มีหน้าที่เป็นตัวเปลี่ยนผ่านจากโลกภายนอกสู่โลกภายในป่าที่มีความสงบบนเมืองเกิด ขอแนะนำว่าป่าในกรุงเป็นหมุดหมายสำหรับผู้สนใจสถาปัตยกรรมและป่าในเมืองแห่งใหม่กับกรุงเทพของเรา
บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร INTERNI (ฉบับภาษาไทย) No 5
ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับรูปและบทความของงานนี้ด้วยครับ