ไอเดียการปรับภูมิสถาปัตย์ (Landscape) เชิงอนุรักษ์

Spread the love

เรื่อง/ภาพ: ภาณุ เอี่ยมต่อม

คำกล่าวที่ว่า “ตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อมาจากอดีต” หรือ ”อดีตสร้างปัจจุบัน และ ปัจจุบันสร้างอนาคต”  เป็นคำกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นถึงสาระของการส่งผ่านและการเชื่อมต่อของบางสิ่งในระหว่างช่วงเวลา รวมถึงผลที่ตามมาจากสิ่งที่เราทำ หรือความสำคัญของกระบวนการในการก้าวข้ามผ่านกาลเวลา
                   คงไม่ได้มีหลายองค์กรนัก ที่จะยืนหยัด ฝ่าฟัน ปัญหา อุปสรรค จนสามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะเติบโต ขยาย กิ่งก้านสาขา ผ่านเวลามานับร้อยปี และการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่จะต้องเกิดจากความเหมาะสมลงตัวขององค์ประกอบหลายๆ ด้าน ทั้งการมีบุคลากรที่มีคุณภาพ หลอมรวมกับวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง หรือต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน สร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยเจตจำนงของการส่งต่อคุณค่า จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น  สิ่งเหล่านั้นนอกจากจะบอกได้ถึงเค้ารางและภาพลักษณ์ของเอสซีจี (เครือซิเมนต์ไทย) แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจ และแนวความคิดในการออกแบบ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาสู่งานภูมิสถาปัตยกรรม ของอาคารสำนักงานใหญ่3ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย

พื้นที่สวนระหว่างอาคารที่มีเส้นสายพลิ้วไหวล้อไปกับงานสถาปัตยกรรม

แนวความคิดสำคัญอันหนึ่งของการออกแบบ จัดวาง และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยรอบของอาคารสำนักงานใหญ่ 3 ของเอสซีจี (เครือซิเมนต์ไทย) เป็นแนวทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ จุดยืนที่จะรักษาทรัพยากร และสภาพแวดล้อมเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ เน้นให้เห็นคุณค่าความสำคัญขององค์ประกอบเดิมที่มีอยู่ ทั้งคลองเดิม ดิน หิน ทราย สิ่งมีชีวิต และต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ ภายใต้กรอบความคิดนี้เองที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์รูปแบบทางกายภาพของพื้นที่ ตัวอย่างหนึ่งเช่น ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่สามารถถมดินทับได้มากนัก ต้องคงระดับความสูงของระดับหน้าดินเดิมไว้ เพื่อให้ระบบรากสามารถหมุนเวียนถ่ายเทอากาศได้ ทำให้ระดับพื้นที่ดินเป็นปัจจัยที่ไม่อาจละเลย
 สภาพต้นไม้เดิมที่ถูกดูแลรักษาไว้อย่างดี

คลองที่มีอยู่เดิมถูกปรับปรุงเพื่อสร้างบรรยากาศ และส่งเสริมให้เห็นความสำคัญ 

                   นอกเหนือจากแนวคิด วิสัยทัศน์ ประโยชน์ใช้สอย ความต้องการแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสำหรับงานภูมิสถาปัตยกรรมก็คือ รูปร่าง/รูปลักษณะของผืนดิน (Land Form) ทั้งที่มีอยู่เดิม และที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากระดับพื้นชั้น1 ของอาคาร 3 นี้ ถูกกำหนดให้มีระดับความสูงกว่าอาคารโดยรอบถึง 2 เมตร ทำให้มีความแตกต่างของความสูงจากพื้นที่รอบอาคารใหม่กับพื้นที่รอบอาคารเดิม เป็นสาเหตุให้ต้องมีการจัดการพื้นที่ระหว่างอาคารใหม่ และอาคารเดิม ทั้งพื้นที่สวน พื้นที่ว่าง เส้นทางสัญจร และส่วนเชื่อมต่อที่ต่างระดับกัน ซึ่งในส่วนนี้ผู้ออกแบบได้ดึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารสำนักงานใหญ่ 3 มาใช้ โดยนำเอาความพลิ้วไหว ความไหลลื่นของเส้นแนวนอนของส่วนผนังด้านนอกตัวอาคารที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเส้นทางเดินด้วยการใช้เส้นทางเดินแนวนอนหลายๆ เส้นพาดผ่านในระนาบที่มีความสูงต่างกัน แนวเส้นมีทั้งช่วงที่บิดโค้งแยกออกจากกันเพื่อเว้นที่ว่างให้กับผืนดิน ต้นไม้ น้ำ ได้ซึมผ่าน เติบโต หายใจ รวมถึงคงสภาพระดับความสูงเดิมของพื้นดินทำให้ไม่ต้องปรับระดับหน้าดินทั้งหมด และมีช่วงที่เส้นทางเดินรวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารเพื่อสร้างแผ่นพื้นขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับรองรับกิจกรรมที่เปลี่ยนไปในพื้นที่ โดยทั้งนี้เพื่อความยืดหยุ่นและรวดเร็วในการสร้างเส้นทางเดินดังกล่าว วัสดุที่ภูมิสถาปนิกเลือกใช้จึงมีลักษณะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อสำเร็จแบบโมดูลที่วางต่อเนื่องกัน เพราะมีความคล่องตัวในการจัดวางเส้นแนว รวมถึงมีความแข็งแรงคงทนมากพอที่จะรองรับการใช้งานได้อย่างยาวนาน

ความเคลื่อนไหวต่อเนื่องของเส้นด้านนอกอาคารมาสู่ระนาบที่เชื่อมต่อกันบนพื้นดิน

 โมดูลของคอนกรีตที่ต่อกันเป็นแนวเส้นที่แยกออก และรวมตัวกันสอดประสานระหว่างอาคาร

                   แนวเส้นทางเดินที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารใหม่และอาคารเดิมที่ให้ความสำคัญของรูปลักษณะ และองค์ประกอบของพื้นที่เดิม นอกจากจะบ่งบอกถึงความใส่ใจขององค์กรที่มีต่อทรัพยากรแล้ว แนวเส้นที่อยู่ระหว่างสองอาคารยังสอดคล้องกับอีกแนวความคิดที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งการเชื่อมต่อของ”อาคารใหม่” และ “อาคารเก่า” ด้วยความต่อเนื่องของเส้นทางเดิน สื่อถึงความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของการส่งผ่านความดีงาม และคุณค่าขององค์กร จากรุ่นสู่รุ่น
  เส้นที่แยกออกจากกัน เพื่อเว้นที่ว่างให้พื้นดิน และต้นไม้
 ความต่อเนื่องของไม้เทียม และโมดูลของคอนกรีต ที่แยกตัวเพื่อให้พืชพรรณแทรกตัวขึ้นมา

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผู้ออกแบบและองค์กรมีความเห็นและความต้องการไปในทิศทางเดียวกันก็คือ การให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำ ในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีแนวคลองเดิมที่มีประวัติและเรื่องราวที่ผูกพันกับองค์กร แต่กลับถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพที่ไม่สวยงามนัก จึงได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนความชันบริเวณริมคลองให้มีความชันน้อยลง ทำให้สามารถปลูกพืชพรรณ หรือไม้น้ำเพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วการปรับเปลี่ยนความชันของพื้นที่ริมคลองยังช่วยให้เห็นความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำขึ้น-ลงภายในคลอง ซึ่งช่วยสร้างชีวิตให้กับคลอง ทำให้มีการสื่อสารโต้ตอบกับผู้ที่เห็นมากขึ้นด้วย  และในบริเวณริมคลองนี้ได้มีการสร้างบ่อน้ำล้นขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านความสวยงาม และยังเป็นประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ที่จะสื่อถึงฝาย และการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ด้วยระบบการกรองและบำบัดน้ำด้วยรากพืช (Natural Bio Filter) ทำให้น้ำในบ่อน้ำล้นนี้ใสอยู่ตลอดเวลา
  บ่อน้ำล้น และพืชพรรณริมน้ำ สัญลักษณ์ของฝาย และการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ

ด้วยความผูกพันลึกซึ้งที่มีมายาวนานกับสังคม ในฐานะองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งช่วยพัฒนาบ้านเมืองไทยในหลากหลายมิติ  ด้วยเจตจำนงและความมุ่งหมายที่จะส่งผ่าน ส่งต่อคุณค่า ของเรื่องราวและประวัติอันยาวนานของเอสซีจี (เครือซิเมนต์ไทย)   ถูกถ่ายทอดมาเป็นงานภูมิสถาปัตยกรรม ผ่านรูปแบบของเส้นสายที่พลิ้วไหว ไหลลื่น เชื่อมโยง ประสานเหล่าอาคารทั้งเก่าใหม่ รวมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทำให้งานภูมิสถาปัตยกรรมนี้มีความชัดเจนทั้งในแง่แนวคิด รูปแบบการก่อสร้าง และการใช้งานในพื้นที่ และสามารถเป็นฉากหลัง หรือเป็นรากฐานเพื่อสร้างความงอกเงย และส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี

LANDSCAPE ARCHITECT : Landscape Architects of Bangkok
LANDSCAPE CONTRACTOR: Cordia
LANDSCAPE AREA: 15,650 sq.m.
YEAR COMPLETION: 2014 

ขอขอบคุณเว็บ SCGbuildingmaterials.com ที่ส่งบทความนี้มาให้ และขอบคุณ คุณภาณุ เอี่ยมต่อม เจ้าของบทความด้วยครับ

credit :  SCGbuildingmaterials.com


Spread the love