สถาปัตยกรรม น้ำและศิลปะ Kyoto Garden of Fine Arts

Spread the love

เรื่องและภาพ:  อรุณ ภูริทัต

แม้ว่า Tadao Ando จะเป็นสถาปนิกที่ได้ชื่อว่าผลิตผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมออกมาเป็นจำนวนมากที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่โอซาก้าซึ่งอยู่ใกล้กันกับเมืองเกียวโต แต่ Ando ก็ไม่ได้มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมในเกียวโตมากนัก โครงการ Kyoto Garden of Fine Arts เป็นหนึ่งในผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมเพียงไม่กี่ชิ้นของ Ando ที่เกียวโต โครงการพื้นที่แสดงงานศิลปะกลางแจ้งแวดล้อมไปด้วยน้ำแห่งนี้จัดแสดงผลงานจิตรกรรม reproduction บนแผ่นเซรามิกจากหลากหลายยุคสมัย โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Kyoto Prefectural Government ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1994  หากเรามองโครงการนี้จากฝั่งถนน Kitayama แทบจะมองไม่เห็นร่องรอยของตัวอาคารเลย Ando ฝังพื้นที่อาคารทั้งหมดลงไปใต้ดิน มีเพียงกำแพงปูนเปลือยและแผงกำแพงกระจกขนาดใหญ่เท่านั้นที่โผล่พ้นระดับพื้นดินขึ้นมา เหตุผลหนึ่งก็อันเนื่องจากบริเวณที่ตั้งของ Kyoto Garden of Fine Arts นั้นอยู่ใกล้กันกับสวนพฤกษศาสตร์เมืองเกียวโต Ando ไม่ต้องการให้อาคารที่เขาออกแบบไปบดบังทัศนียภาพอันสวยงามระหว่างตัวสวนพฤกษศาสตร์กับภูเขา

โครงการ Kyoto Garden of Fine Arts  เมื่อมองจากถนน Kitayama

เมื่อเดินมาถึงยังบริเวณด้านหน้าโครงการเราจะมองเห็นแนวกำแพงปูนเปลือยและคานคอนกรีตขนาดใหญ่วิ่งตัดทแยงพาดขวางกันไปมา ในขณะที่ทางเดินลาดเอียงก็พุ่งเป็นแนวแกนตรงไปยังเบื้องล่าง โดยมีบ่อน้ำขนาดใหญ่แทรกตัวอยู่โดยรอบ ภาพวาด Water liles-Morning ของ Claude Monet บนแผ่นเซรามิกถูกวางไว้อยู่ใต้บ่อน้ำตื้นๆบริเวณปากทางเข้ารอคอยต้อนรับผู้มาเยือนเป็นด่านแรก

แกนทางลาดที่พุ่งตรงดิ่งยาวเข้าไปยังพื้นที่ภายในโครงการ 

เมื่อเดินไปจนเกือบสุดทางลาดเราจะได้ยินเสียงน้ำตกที่ไหลผ่านกำแพงขนาดยักษซึ่งอยู่ด้านในสุดของโครงการ  ภาพ the Last Judgment บนแผ่นเซรามิกขนาดเท่าจริงโดย Michelangelo เริ่มปรากฏตัวให้เห็นบนกำแพงคอนกรีตที่มีความสูงร่วม 14 เมตร พื้นที่อาคารถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับสถาปนิกใช้ทางลาดที่ค่อยลดระดับลงไปเรื่อยๆในการนำพาผู้ชมเลื่อนไหลงเข้าสู่พื้นที่แสดงงาน

ระดับชั้นใต้ดินชั้นหนึ่ง ที่ตัดกับแกนทางลาดหลัก 

Ando วางแนวแกนคานคอนกรีตรูปทรงไม้กางเขนเฉียงทแยงทำมุม 22.5 องศากับแกนทางลาดหลักที่ตั้งฉากกับถนน Kitayama เพื่อทำให้พื้นที่ว่างที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินแลดูเลื่อนไหลและมีมิติมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น Ando ยังปรับให้ทางเดินเฉียงนี้มีรูปทรงโค้งแหลมคล้ายปลายดาบชี้ไปยังมุมด้านขวามือของกำแพงน้ำตกด้านในสุดเพื่อทำหน้าที่ลวงสายตาให้สเปซดูลึกและยาวกว่าปกติ

แผงน้ำตกจำลองที่ไหลลดหลั่นจากด้านหน้าโครงการ

ทางเดินโค้งไปยังกำแพงน้ำตก 

Kyoto Garden of Fine Arts ถูกออกแบบเน้นหนักในเรื่องของสเปซทางสถาปัตยกรรมมากกว่าที่จะเป็นการก่อรูปทรงทางสถาปัตยกรรม (form) ขึ้นมา แสงและสเปซยังเป็นเนื้อหาหลักในการสร้างงานสถาปัตยกรรมของ Ando เสมอ และที่สำคัญในโครงการนี้ Ando ได้ผนวกเอาน้ำเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศให้กับตัวสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการใช้ทางลาดและบันไดในการสร้างลำดับการมองเห็นและเชื่อมพื้นที่ส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ผลงานจิตรกรรมเซรามิกที่ทำซ้ำจากงานจิตรกรรมต้นฉบับที่มีชื่อเสียงอย่าง “The Last Supper” โดย Leonardo da Vinci  ซึ่งมีขนาดเท่าของจริง  ภาพ “Road with Cypresses and Star” โดย Van Gogh และ “On the Terrace” โดย  Renoir ถูกนำมาขยายให้มีขนาดใหญ่กว่าผลงานต้นฉบับถึงสี่เท่าและติดตั้งบนผนังคอนกรีตลอยตัว ล้อมกรอบด้วยเหล็กรูปพรรณ งานจิตรกรรมบนแผ่นเซรามิกเหล่านี้ได้ถูกวางแทรกไว้ตามมุมต่างๆ ของสระน้ำที่รายรอบอยู่ทั่วโครงการ ในขณะที่ภาพเขียนโบราณแบบจีนและญี่ปุ่นนั้นถูกติดตั้งอยู่บนแกนกำแพงหลักที่เป็นโครงสร้างรองรับทางลาดเอาไว้

ผลงาน  The Last Supper ที่แวดล้อมไปด้วยผนังปูนเปลือย

มุมมองจากทางเดินระดับชั้นสองไปยังภาพ The Last Judgment

ทางเดินคอนกรีตปลายแหลมที่ชี้ไปมุมของผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า

แนวแกนบันไดซึ่งเชื่อมสู่ชั้นใต้ดินระดับล่างสุดเพื่อไปยัง ภาพ The Last Judgment

แนวกำแพงปูนเปลือยขนาดใหญ่บริเวณทางออก 

Ando ออกแบบ โครงการ Kyoto Garden of Fine Arts ในช่วงอายุวัยต้น 50 มีระยะเวลาทิ้งห่างจากโครงการที่เขาเคยทำในเกียวโตอย่าง Time’s ในปี 1984 ยาวนานถึง 10 ปี และเป็นช่วงเวลาที่เขาผลิตงานสถาปัตยกรรมออกมาเป็นจำนวนมาก งานออกแบบสถาปัตยกรรมของ Ando ที่ปรากฏในเกียวโตนั้นถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับบริบทของเมืองโบราณโดยรอบ Ando ถึงขั้นปรับการใช้คอนกรีตเปลือยมาสู่คอนกรีตบล็อคอย่างในโครงการ Time’s ส่วนโครงการ Kyoto Garden of Fine Arts เขากดพื้นที่ใช้สอยของอาคารเกือบทั้งหมดให้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินเพื่อมิให้ตัวอาคารโผล่ขึ้นมารบกวนภูมิทัศน์โดยรอบ  สถาปนิกแทบทุกคนที่มีงานออกแบบสถาปัตยกรรมในเกียวโตนั้นต้องใส่ใจเป็นอย่างมากต่อขนาดและความสูงของอาคารที่ตนเองออกแบบ รวมไปถึงวัสดุก่อสร้างที่จะนำมาใช้ และยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษหากอาคารหลังนั้นตั้งอยู่ในย่านโบราณสถาน  ภาพของเมืองโบราณซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขาและธรรมชาติอันสวยงามในฐานะเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นยังคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้อย่างน่าเกรงขามและคนญี่ปุ่นเองก็หวงแหนและภาคภูมิใจต่อวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเมืองแห่งนี้เป็นอย่างมาก

ขอขอบคุณเว็บ SCGbuildingmaterials.com ที่ส่งบทความนี้มาให้ และขอบคุณ คุณอรุณ ภูริทัต เจ้าของบทความด้วยครับ

credit :  SCGbuildingmaterials.com


Spread the love