เมื่อสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่คุ้มแดดฝนเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์แล้ว หน้าที่ของสถาปัตยกรรมถูกเพิ่มเป็นผู้เสนอความงามของวิถีชีวิต บอกเรื่องราว คติความเชื่อของสังคมในบริบทที่ตัวเองถูกก่อรูปขึ้น เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการก่อรูปถูกแปลความออกมาในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งส่วนประดับ โครงสร้าง จวบจนโลกสถาปัตยกรรมล่วงเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อสถาปัตยกรรมถูกมองผ่านที่ว่าง การตีความเรื่องราวของสถาปัตยกรรมจึงแสดงออกผ่านที่ว่างมากขึ้น เนื่องจากโลกของสถาปัตยกรรมตะวันตกก่อนหน้านี้ไม่ได้ตระหนักถึงที่ว่าง แต่การตีความทางสถาปัตยกรรมผ่านที่ว่างยังยากต่อการรับรู้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่สถาปนิก ความพยายามของสถาปนิกที่ต้องการสื่อสารถึงตัวตนผ่านสถาปัตยกรรมให้ชัดเจนจึงใช้ตัวเลือกอื่นมากกว่าการสื่อสารด้วยที่ว่างเพียงอย่างเดียว
จวบจนโลกของสถาปัตยกรรมมาถึงศตวรรษที่ 20 โลกตะวันตกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อกำเนิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ การสื่อสารถึงเรื่องราวของที่ตั้ง โปรแกรม ไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายหลัก สถาปนิกได้สถาปนาตัวเองเป็นราวพระเจ้าที่สร้างประติมากรรมที่เชื่อว่าเป็นภาษาสากลจนถึงขั้นเสนอให้เป็น International Style จนในที่สุดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้กลายเป็นสิ่งน่าเบื่อ จนนำพาตัวเองไปสู่การล่มสลายเมื่อยุค 70 ในที่สุด การต่อต้านสถาปัตยกรรมที่ไม่สื่อความหมายได้กลายเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความขัดแย้ง ความรุ่มรวยด้านความหมาย ประเด็นเหล่านี้ทำให้สถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ ต่างจากงานของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นตัวขาดอดีต ไม่แสดงตัวตน เป็นจักรกล จวบจนยุคสมัยใหม่ล่มสลายลงพร้อมกับสัญลักษณ์ ความต้องการแสดงตัวตนออกมาอย่างมากขึ้น
การสื่อสารด้านแนวคิดที่ James C. Snyder เสนอผ่านหนังสือ Introduction to Architecture ว่าแนวความคิดในการออกแบบมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบดังนี้ Programmatic Concepts, Essences, Ideals, Analogy และ Metaphor and Similes 2 รูปแบบสุดท้ายทั้ง Analogy และ Metaphor and Similes เป็นวิธีที่เราจะคุ้นเคยมาที่สุดเพราะง่ายต่อการรับรู้ แต่ต่างกันที่ Analogy จะเน้นความเหมือนของสิ่งที่ต้องการสื่อสารในสถาปัตยกรรม และมักจะกลายเป็นการขยายเสกลของวัตถุต้นแบบอย่างตรงไปตรงมาจนบางครั้งถูกมองว่าเป็นงานไม่มีรสนิยม ส่วนวิธี Metaphor and Similes หรืออุปมาและอุปมัย จะเป็นการเปรียบเปรยความสัมพันธ์ของสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาเป็นสถาปัตยกรรม แต่ความสัมพันธ์ของสิ่งที่อุปมาและอุปมัยจะออกมาในรูปแบบที่เป็นนามธรรมมากกว่าจะใช้วิธีหยิบยกมาอย่างตรงไปตรงมา หรือมีกลิ่นที่คล้ายกับสิ่งที่ยกขึ้นมา
ในย่านธุรกิจใหม่ไม่ไกลจากสะพานวงแหวนอุตสาหกรรมบนถนนนนทรี สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปไม่ได้มีเรื่องราวเก่าที่ชัดเจน เอื้อให้เกิดการสร้างสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ไม่ต้องใช้ความเกี่ยวเนื่องกับถิ่นที่มาก อาคารสำนักงานที่มีรูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมแต่มีจุดสนใจที่ façade ด้านหน้าที่เป็นกระจกฝ้า ใส สลับกันไปมาราวกับต้องการสื่อสารถึงกิจกรรมภายใน อาคารนี้คือสำนักงานของบริษัท โซนิค วิชัน ที่ดำเนินกิจการค้าขายอุปกรณ์จีพีเอสและเครื่องเสียงประกอบรถยนต์ อาคารนี้ออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายในจากสำนักงาน Stu/D/O Architects โดย อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญและชนาสิต ชลศึกษ์
ใจความสำคัญที่สถาปนิกใช้ตีความคือการเริ่มจากตีความจากโปรแกรมที่กิจกรรมภายในเป็นสำนักงานเกี่ยวกับ’เสียง’ สถาปนิกจึงเลือกใช้การตีความด้วยการเล่นกับชื่อสำนักงาน ‘Zonic Vision’ซึ่งสถาปนิกมองว่าเป็นการเล่นคำที่หมายถึงคลื่นเสียงที่มองเห็นได้ แนวคิดที่สถาปนิกเลือกใช้ไม่ได้ใช้วิธีตรงไปตรงมาแบบ Analogy แต่เป็นการสร้างแนวคิดแบบอุปมาและอุปมัย โดยอุปมาจากการทำงานของคลื่นเสียงในเครื่องเสียงที่แสดงค่าของเสียงต่างๆที่ผ่านมาจาก Amplifier ออกมาเป็นกราฟฟิคที่ตัวปรับความสมดุลเสียงที่เรียกว่า Equalizer ซึ่งการแสดงผลของเสียงที่ออกมานั้นจะเป็นกราฟฟิคแสดงเป็นแท่งขึ้นลงในระดับต่างๆกันไปตามคลื่นความถี่ของแต่ละเฮิร์ซ ความเคลื่อนไหวของแต่ละคลื่นเสียงที่มีระดับไม่เท่ากันได้อุปมัยกลายเป็นการสร้างพื้นผิวด้านหน้าที่หันไปยังทิศตะวันตก
สถาปนิกออกแบบ façade ส่วนนี้ให้เป็นผนัง 2 ชั้นมีช่องว่าง 0.80 เมตร ผนังชั้นในเป็นส่วนปกปิดการใช้สอยภายในที่ไม่ต้องการแสงและความร้อนมากจึงกลายเป็นผนังทึบส่วนใหญ่ ผนังด้านนอกเป็นกระจกที่แบ่งความเข้มจางด้วยกระจกสีขาวขุ่น-ใสออกเป็น 3 ระดับตามการใช้สอยภายใน ส่วนที่กระจกขุ่นที่สุดปกปิดส่วนห้องเก็บสินค้า ส่วนที่ขุ่นรองลงมาจะปกปิดส่วนทำงาน ส่วนที่ใช้กระจกใสจะเป็นพื้นที่แสดงสินค้า ผลลัพธ์ของการใช้กระจกที่มีความขุ่นต่างๆกันคละไปบน façade ด้านหน้าก่อเกิดความเคลื่อนไหวคล้ายการทำงานของ Equalizer ที่หยุดนิ่งในเวลาหนึ่ง การรับรู้ถึงระดับความขุ่น-ใส เข้ม-จางแบบกราฟฟิกของ Equalizer จะยิ่งชัดเจนเมื่อถึงเวลากลางคืนที่เปิดไฟหลังผืนกระจกมากกว่าในเวลากลางวัน
พื้นที่การใช้สอยภายในเป็นแบบปรกติของอาคารสำนักงาน ส่วนที่พิเศษคือการใช้สอยในชั้นที่ 5-6 สถาปนิกได้ตีความความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุขด้วยการสร้างที่ว่างที่มีคุณภาพดี การสร้างความลื่นไหลของที่ว่างในชั้นที่ 5-6 จึงกลายเป็นการออกแบบให้มีความเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องในหลายส่วน ทั้งการเชื่อมโยงกับที่ว่างภายนอก-กึ่งภายนอก-ภายใน อยู่ในเกือบทุกส่วน เช่นในส่วนของสวนที่ปลูกต้นไม้ที่ชั้น 5 ที่สถาปนิกเลือกเปิดมุมมองจากสวนเข้ามายัง double volume ที่ชั้น 5-6 เพื่อให้เกิดมุมมองที่ดีในเวลาทำงานของคนส่วนใหญ่ในสำนักงาน พื้นที่ส่วนนี้บรรจุทั้งสำนักงาน บันไดลอย การเลือกเปิดเอามุมมองจากสวนที่เปิดสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ความเคลื่อนไหวจากภายนอกเข้ามาช่วยกระตุ้นพื้นที่ภายในให้มีชีวิตขึ้น
สวนขนาดเล็กด้านบนนี้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหลักให้กับพนักงาน นอกจากนี้สวนขนาดเล็กได้ถูกเติมไปหลายส่วนอย่างเช่นห้องประชุมที่ชั้น 6 ทำให้ห้องนี้มีความน่าสนใจจากแสงเงาจากต้นน้ำเต้าทุกช่วงวัน หรือการเติมสวนที่บริเวณห้องน้ำช่วยให้ไม่เกิดจุดอับแสงธรรมชาติและยังเติมต้นหมากเข้าไปยังห้องน้ำชายที่ชั้น 5 ให้ยอดทะลุขึ้นไปยังชั้น 6 ก่อเกิดมิติของแสงธรรมชาติสอดแทรกอยู่ในพื้นที่หลายส่วน นอกจากการตีความอัตลักษณ์ร่วมของสินค้าไม่ได้จบแค่การตีความผ่านเปลือกภายนอก แต่ยังถูกทำให้มีเนื้อหาเดียวกันไปจนถึงงานออกแบบกราฟฟิค ด้วยนักออกแบบกราฟฟิคได้ตีความจากชื่อโซนิค วิชัน ด้วยการแปลงตัวอักษร Z ที่มีเส้นเฉียงเป็นจุดเด่น และสีแดง-ดำจากโลโกเดิมเข้ามาประกอบในป้ายส่วนต่างๆในสำนักงาน และใช้ในพื้นที่ต่างๆด้วย
อภิชาติอธิบายถึงงานนี้ว่า “เมื่อนึกถึงการรับรู้ที่ทำให้คนมองเห็นเสียงเป็นภาพนั้น ทำให้นึกถึง Diagram ของ Equalizer ที่ปกติเราเห็นตามหน้าจอของเครื่องเสียงทั่วไป เป็นการทำให้คนฟังการรับรู้ถึงความเข้มของเสียงผ่านการมองภาพเคลื่อนไหวขึ้นลงไม่หยุดนิ่ง”
บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารอาษา issue 05:58
Zonic Vision
Location : ถนนนนทรี กรุงเทพมหานคร
Architects : Stu/D/O Architects
Photos & story by : คุณสาโรช พระวงค์
เกี่ยวกับผู้เขียน :
สาโรช พระวงค์ / Xaroj Phrawong
สถ.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ สถ.ม.มหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบันเป็นนักเขียนให้กับนิตยสารและเวบไซต์ด้านการออกแบบ, สถาปนิกอิสระ ทำงานประจำเป็น ‘อ.แขก’ และรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอื่นๆ
ขอขอบคุณแอดมินแขกสำหรับรูปและบทความงานนี้ด้วยครับ