อาคารผนวกศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา หมู่บ้านญี่ปุ่น

Spread the love

พอดีว่าแอดมินแขกของเราไปประชุมที่อยุธยาและได้แวะไปหมู่บ้านญี่ปุ่นมาด้วย เลยเก็บภาพและเรื่องราวมาฝากกัน ถึงงานนี้จะเป็นงานที่อายุก็ 20 กว่าปีแล้วแต่ยังดูดี นิ่ง เรียบ แบบที่สถาปนิกญี่ปุ่นชอบทำในยุคนั้นครับ

อาคารผนวก ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา (Annex Building)
หมู่บ้านญี่ปุ่น ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สถาปนิก : Nikken Sekkei

ราว 400 ปีก่อนครั้งสยามประเทศยังมีกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง ราวยุคเรอเนซองส์ของโลกตะวันตก กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าค้าขาย มีหลากหลายชนชาติเข้ามาค้าขายและปักหลักตั้งถิ่นฐานรอบกรุงก็มีมาก หนึ่งในชนชาติที่เคลื่อนย้ายเข้ามาก็คือชาวญี่ปุ่น จนเกิดหมู่บ้านญี่ปุ่นในบริเวณนอกเกาะเมืองอยุธยาทางใต้ 
และในหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้เองที่ทำให้เกิดคนในตำนานของกรุงศรีอย่าง’ออกญาเสนาภิมุข’ หรือชื่อเดิมว่า นากามาสะ ยามาดะ ชาวญี่ปุ่นผู้อพยพเข้ามารับราชการในสยามสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม(พ.ศ. 2154 – พ.ศ. 2171)ที่เราจะคุ้นจากเป็นตัวละครในภาพยนต์หรือนิยายอิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากความสำคัญในเรื่องประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่น จึงเกิดโปรแกรม ’ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา’ ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนสนับสนุนการโครงการนี้ โดยตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

แต่ในแรกเริ่มนั้นที่ตั้งศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาจะตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่น แต่ด้วยบทบาทจากสมาคมสถาปนิกสยามฯได้เสนอเรื่องการย้ายที่ตั้งจากเดิมที่หมู่บ้านญี่ปุ่นมาที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา(มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) จนในที่สุดจึงเป็นการร่วมมือกันของสถาปนิกจากญี่ปุ่น Nikken Sekkei และคณะสถาปนิกจากสมาคมสถาปนิกสยามฯที่นำทีมโดย ดร.อภิชาติ วงศ์แก้ว สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมในงานนี้



และเนื่องจากความแรงของที่ตั้ง นอกจากที่จะมีอาคารหลักตั้งอยู่ถนนโรจนะแล้ว ยังมีอาคารผนวกที่แสดงเรื่องราวของประวัติศาสตร์อยุธยาเพิ่มเติม โดยเน้นไปที่ประเด็นเรื่องความเป็นไปของญี่ปุ่นในสยามยุคอยุธยา โดยเฉพาะเรื่องราวของนากามาสะ ยามาดะ อาคารผนวกจึงตั้งอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่น และได้ทำการเปิดใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533  ตัวอาคารผนวกมีขนาดไม่ใหญ่มาก ภายในบรรจุเนื้อหา 9 ส่วนซึ่งทำการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2550 รูปแบบของสถาปัตยกรรมแม้จะมีกลิ่นอายของแนวคิดโพสต์โมเดิร์นที่แสดงถึงสัญลักษณ์มากกว่าความเรียบง่ายเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นการตีความที่คนนอกอย่างสถาปนิกญี่ปุ่นมองเข้ามาถึงอัตตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกตีความด้วยการแทนค่าของสีทองที่จั่ว จั่วคอนกรีต ช่องลมลายกระจัง ผสมเข้ากับการใช้น้ำแบบนามธรรมในสระกรวดด้านหน้า เสาลอยที่ไม่สมบูรณ์รายเรียงในสระกรวดที่เป็นสวนเซนมากกว่าจะสื่อถึงน้ำ จุดเด่นของงานนี้คือการวางเส้นสายที่รับกันไปทั้งผังที่ใช้เส้นโค้งวนต่อเนื่องจากถนนจนถึงริมน้ำเจ้าพระยา

แม้ว่าตัวงานจะไม่มีความใหญ่โตเมื่อเทียบกับอาคารหลัก แต่ความเล็กที่ผนวกไปกับจิตวิญญาณสถานที่ของร่องรอยญี่ปุ่นในสยามก่อนกรุงศรีล่ม ก็ทำให้งานนี้ควรจะมาเยือนเพื่อเพิ่มเติมเต็มเนื้อหาจากอาคารหลักของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

 


Spread the love