ห้องแถว บ้านแถว ตึกแถวในความหมายของทั่วไปคงทำให้นึกถึงบ้านหน้ากว้าง 4 เมตรที่มีผนังร่วมกันต่อกันยาวไปเป็นแผงจึงเป็นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรียกกันง่ายๆ ติดปากว่าตึกแถว ลักษณะของสถาปัตยกรรมประเภทนี้มักจะมีรูปแบบการใช้งานที่คล้ายกันไปทั่วประเทศคือมีพื้นที่สำหรับทำการค้าขายที่ชั้นล่าง และชั้นบนคือที่พักอาศัยของเจ้าของร้าน คาดได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มาพร้อมกับการอพยพของชาวจีนมายังสยามในหลายระลอก จากที่สังเกตได้ถึงการนิยมอยู่ติดดิน ไม่ยกพื้นลอยแบบเรือนดั้งเดิมในแถบอุษาคเนย์ และกิจกรรมที่ใช้จะตอบรับไปยังการค้าขายซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวจีนถนัด ตึกแถวในบ้านเราจึงได้รับอิทธิพลจากจีนส่วนใหญ่ จวบจนเมื่อสยามประเทศสู่ยุคถูกล่าอาณานิคม พื้นที่ของตึกแถวก็ถูกเจียดให้กับรูปแบบศิลปะตะวันตกเข้ามาปนจนเป็นสถาปัตยกรรมลูกผสมที่มากด้วยเสน่ห์ ที่เราจะคุ้นหูในคำว่า’สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม (Colonial Architecture)’
สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมที่มีกลิ่นฝรั่งเจือสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในย่านเมืองเก่าที่มีการเติบโตทางธุรกิจในช่วงยุคล่าอาณานิคมราวต้นรัตนโกสินทร์จนถึงยุคหลังปฏิวัติล่วงเลยไปเล็กน้อยซึ่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้เข้ามาครอบครองพื้นที่แทน ถ้าจะให้สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ขอให้ลองมองมายังที่เกาะรัตนโกสินทร์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวตั้งแต่ พ.ศ.2325 จนปัจจุบัน หากมองไปยังอีกย่านที่บันทึกความเปลี่ยนแปลงผ่านสถาปัตยกรรมนั้นไว้ก็อย่างเช่นย่านท่าเตียน ย่านนี้เป็นย่านเก่าแก่ตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างกรุงเลยทีเดียว กิจกรรมเดิมของย่านท่าเตียนเป็นการค้าขายข้าวของเครื่องใช้สารพัดตั้งแต่อดีต จนปัจจุบันยังมีร่องรอยกิจกรรมเหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขายสารพัดปลาแห้ง หรือจะเป็นของบำรุงในแบบแพทย์แผนไทยดังที่เราเดินผ่านย่านนี้ไปจะได้กลิ่นหอมของยาไทยจางๆ กิจกรรมเก่าเหล่านี้ปะทะกับกิจกรรมใหม่ที่แทรกตัวเข้ามาย่างแนบเนียนด้วยเสน่ห์ของเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวผลัดกันมาเยี่ยมเยือน สลับกับร้านขายของที่กล่าวมาแล้วจะพบร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่แทรกตัวเป็นระยะๆ เพื่อรับกับกิจกรรมใหม่ที่มาแทนความเป็นอยู่แบบเดิม และแน่นอนที่เราไม่สามารถลืมไปได้กับกิจกรรมใหม่ที่กำลังมีแนวโน้มที่ดีจากแนวคิดเรื่องต้นทุนวัฒนธรรมในเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ’บูติคโฮเตล’
บูติคโฮเตลในย่านเมืองเก่านิยมใช้ตึกแถวเก่าเพื่อปรับกิจกรรมเดิมซึ่งหมดอายุหรือหมดลมหายใจของวิญาณเดิมไปตามยุคสมัย แล้วแทรกกิจกรรมใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ไม่อยากได้ประสบการณ์อย่างที่จะพบได้จากโรงแรมทั่วไป นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะเลือกพักในบูติคโฮเตลขนาดเล็ก จำนวนห้องไม่มากนัก แต่แทรกตัวไปกับกิจกรรมเก่าอย่างแนบเนียน การปรับปรุงอาคารตึกแถวเก่าเป็นบูติคโฮเตล คือการแทรกโปรแกรมใหม่ลงไปในพื้นที่เก่า เทคนิคคือการกระตุ้นกิจกรรมให้สังขารเดิมสามารถมีวิญญาณใหม่ที่ปลุกให้กายนี้มีแรงขับเคลื่อนต่อไป
เมื่อเดินทางมาถึงยังย่านท่าเตียนในตรอกเล็กๆ ข้างตึกแถวโบราณที่กำลังทำการปรับปรุงอยู่ พลันนั้นผมนึกถึงฉากของภาพยนตร์เรื่อง ’ทวิภพ The Siam Renaissance’ ฉบับของสุรพงษ์ พินิจค้าที่ออกฉายในปีพ.ศ. 2547 ฉากหลังในเรื่องได้ใช้ห้วงเวลาของกรุงเทพฯ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือ ร.4 ได้โผล่ขึ้นมาในความคิดของผม หลังจากได้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งมุมมองที่มองไปยังฝั่งธนบุรี เปิดให้สายตาปะทะกับพระปรางค์วัดอรุณ (วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) และเมื่อหันสายตาไปยังฝั่งพระนครก็จะพบกับหลากเจดีย์ในวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) กลิ่นอายเก่าๆ ของผู้คนในร้อยกว่าปีที่แล้วมาได้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของท่าเตียนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน หลายฉากของทวิภพช่วยขับเน้นเรื่องราวจากวันวานของย่านท่าเตียนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ให้มีชีวิตขึ้นในจินตนาการของผมเอง
ภาพยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่หลุดมาจากอดีตเหล่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘onion’ สถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบปรับปรุงตึกแถวเก่าในย่านท่าเตียนให้กลายเป็น ‘ศาลารัตนโกสินทร์’ บูติคโฮเตลในเครือ ‘ศาลา’ เพื่อชุบชีวิตตึกแถวเก่าให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ที่ตั้งโครงการอยู่ในตรอกเล็กข้างตึกแถวเก่าของตลาดท่าเตียนที่กำลังปรับปรุงอยู่ในเวลานี้ ตำแหน่งแนวแกนของพื้นที่ตั้งโครงการนั้นเต็มไปด้วยพลัง ทั้งมุมมองสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่มีวัดอรุณอันโดดเด่นและทรงพลังตั้งอยู่เบื้องหน้า และหากเราหันหน้าไปยังพระปรางค์วัดอรุณ เบื้องหลังของเราคือภาพของวัดโพธิ์ที่มียอดเจดีย์รายเรียงหลากหลายจากการก่อสร้างกันมาหลายชั่วคน คล้ายกับว่าบริบทอันทรงพลังเหล่านี้รอการเข้าไปสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา
onion ได้แนวคิดในการออกแบบเริ่มจากการสร้าง ‘กรอบ’ เพื่อจับภาพให้เข้ามาอยู่ในกรอบต่างๆ ราวกับทุกช่องเจาะในโรงแรมนี้เป็นกรอบภาพบนผนังแขวนงานศิลปะภาพถ่ายของเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีชีวิต ทุกการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนถ่ายสเปซในแต่ละส่วนล้วนสร้างการรับรู้จากสองแกนของทั้งสองวัดนี้ เมื่อเดินเข้ามายังตรอกข้างตึกแถวเก่าของท่าเตียนในตอนแรกนั้นเราไม่สามารถรับรู้ได้ถึงมุมมองสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ผมเดินฝ่าผู้คนขวักไขว่ที่ทำกิจกรรมการค้าทั้งขายปลีกและขายส่ง มีทั้งคน รถทุกชนิดสัญจรกันอย่างปะปนดูวุ่นวาย แต่สิ่งที่เราจะสังเกตได้ว่าถึงจุดหมายแล้วคือท่ามกลางความวุ่นวายจะพบอาคารเรียบเกลี้ยงดูแปลกแยกออกมา และมีสิ่งที่บ่งบอกว่าถึงทางเข้าคือป้าย ‘sala rattanakosin’ สีขาวเกลี้ยงที่พาผมเข้ามายังมุมตอนรับที่สถาปนิกเลือกให้ฉากหลังส่วนนี้เป็นผนังอลูมิเนียมตีผิวหยาบแลดูดิบขัดกับความเรียบเกลี้ยงของเปลือกภายนอกของโรงแรม จากจุดนี้จะแบ่งบันไดเป็นสองส่วนเพื่อแยกการสัญจรไม่ให้ปะปนกันของส่วนผู้เข้ามาใช้ร้านอาหารและส่วนของแขกที่มาพักให้ขาดจากกัน ส่วนแรกคือเส้นทางสัญจรแนวตั้งเพื่อไปยังห้องพักทั้ง 17 ห้อง และส่วนที่สองคือบันไดเพื่อไปยังส่วนร้านอาหารชั้นสองและชั้นดาดฟ้า
ในขณะที่เรากำลังจะเลี้ยวขวาเพื่อขึ้นบันไดไปยังร้านอาหารและท่าน้ำในบริเวณชั้นหนึ่ง กรอบภาพแรกที่ปรากฏสู่สายตาคือพระปรางค์วัดอรุณที่ลอดผ่านวงกบเหล็กดำ การที่ภายในร้านอาหารมีแสงมืดสลัวช่วยขับให้ภาพของพระปรางค์โดดเด่นขึ้นมา จากนั้นเมื่อเลี้ยวผ่านบันไดเหล็กสีดำขึ้นมายังชั้นสองซึ่งเป็นร้านอาหารเช่นกัน สายตาก็ได้ปะทะไปยังกระจกสีดำที่ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าข้างหน้าจะเป็นอะไร และกระจกบานใหญ่สีดำนี้เองก็เป็นจุดบังคับสายตา เป็นกรอบภาพของพระปรางค์วัดอรุณอีกครั้ง นอกจากนี้หากมองย้อนหลังกลับไปจากในส่วนของร้านอาหารจะมองเห็นกรอบภาพที่เป็นผนังอิฐเปลือยและแสงสลัวซึ่งช่วยขับภาพของเจดีย์จากวัดโพธิ์ให้ปรากฏขึ้น จากส่วนร้านอาหารในชั้นสองเราสามารถเดินขึ้นบันไดเหล็กที่มีเส้นสายสวยงามไปยังชั้นดาดฟ้าซึ่งประกอบไปด้วยบาร์เครื่องดื่มและที่นั่งชมวิว ในชั้นดาดฟ้านี้กรอบภาพต่างๆ ได้สลายไป เปลี่ยนเป็นมุมมองแบบเปิด 360 องศาของเกาะรัตนโกสินทร์และฝั่งธนบุรีในที่สุด
สำหรับในส่วนเส้นทางสัญจรของแขกผู้มาพัก จะต้องเดินผ่านส่วนต้อนรับเสียก่อนเพื่อผ่านขึ้นมายังบันไดแยกอีกชุดที่จะนำไปสู่บริเวณห้องพัก ซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบไว้เป็นสองมุมมองคือมุมมองจากทิศตะวันออกที่จะมองเห็นกับวัดโพธิ์ ซึ่งฝั่งนี้มีข้อจำกัดของที่ตั้งทำให้กรอบภาพด้านนี้ไม่สามารถได้มุมมองของวัดโพธิ์ได้ครบทุกห้องแต่จะมองเห็นเฉพาะห้องที่สามารถมองผ่านตรอกทางเข้าเท่านั้น และอีกฝั่งคือห้องทางทิศตะวันตกที่มีมุมมองเปิดสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและพระปรางค์วัดอรุณ กรอบภาพของทุกห้องเด่นชัดยิ่งขึ้นเมื่อเวลาเดินทางมาถึงช่วงพลบค่ำ ซึ่งไฟส่องพระปรางค์สว่างขึ้น และนั่นทำให้การที่สถาปนิกออกแบบอาคารมีโทนสีขาวและดำมีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการรับรู้แล้ว
การเลือกวัสดุของสถาปนิกเป็นอีกประเด็นที่ทำให้โรงแรมศาลารัตนโกสินทร์มีความงดงามและสร้างสุนทรียะจากความหยาบของพื้นผิวต่างๆ ร่องรอยของผนังเดิมถูกกะเทาะปูนฉาบออกจนผนังอิฐเดิมแสดงตัวอย่างไม่ต้องเขินอาย วัสดุเน้นไปที่ความดิบ ความงามจากการแสดงออกของร่องรอยกาลเวลา และในขณะเดียวกันก็ถูกจัดวางอย่างขัดแย้งกับความเรียบเกลี้ยงของวัสดุอื่นๆ ซึ่งเห็นได้ตั้งแต่ส่วนของผนังส่วนต้อนรับซึ่งกรุด้วยแผ่นอลูมิเนียมตีให้ผิวไม่เรียบขัดแย้งกับพื้น ผนัง ฝ้า ที่มีความเนี๊ยบเรียบในที ซึ่งความขัดแย้งของวัสดุเหล่านี้สถาปนิกได้วางไว้ในแต่ละจุดของโรงแรมอย่างแนบเนียน ทั้งมีส่วนร่องรอยแบบหยาบๆ ซึ่งเป็นร่องรอยจากการปรับปรุงตึกแถวเดิมซึ่งยังคงเก็บไว้ผสมไปกับส่วนที่ทำเลียนแบบร่องรอยเหล่านี้ขึ้นมาใหม่อย่างจงใจทั้งรอยการกะเทาะของปูนฉาบเดิมที่ทำให้เห็นอิฐเปลือยและผนังก่ออิฐเปลือยใหม่ หรือร่องรอยผนังที่มีรอยการปูกระเบื้องเดิมผสมไปทั้งรอยเก่าและรอยใหม่ ทำให้มิติของเวลาที่เรารับรู้สถาปัตยกรรมได้พร่าเลือนลงถึงเวลาที่แน่นอนของตัวมันเอง แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกความงามที่ผสมกันไปแบบวาบิซาบิ รวมถึงความงามจากความหยาบกระด้างที่ในอีกนัยก็สามารถหมายถึงความงามจากกาลเวลาได้เช่นกัน
แม้ว่าข้อเสียของการปรับปรุงอาคารเก่ามาเป็นโรงแรมส่วนใหญ่คือเรื่องความรู้สึกส่วนตัวจากการรบกวนรอบข้างทั้งประเด็นภาพและเสียง อย่างกรณีของงานนี้เนื่องจากวัสดุที่ใช้ยังไม่สามารถเก็บเสียงได้ดีจากกิจกรรมในส่วนดาดฟ้า ทำให้เสียงต่างๆ เข้ามารบกวนในส่วนห้องพักข้างล่าง แต่หากมองในอีกมุมของผู้ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศของเมืองเก่าจริง อาจจะต้องยอมรับในข้อเสียเล็กน้อยเหล่านี้และมองมันในมุมถึงประสบการณ์ที่เราไม่สามารถเจอได้ในโรงแรมทั่วไปที่เน้นความสะดวกสบายในประสบการณ์ที่คล้ายกันทั่วโลก
จวบจนเมื่อพระอาทิตย์คล้อยลับพระปรางค์ไป จึงได้เวลาที่ผมต้องออกจากกรอบภาพเหล่านี้ ขณะที่เดินกลับออกไปจากโรงแรมริมน้ำนี้ ผมเดินพร้อมกับครุ่นคิดว่าแม่มณีจันทร์คงกรีดกรายอยู่ในลมหายใจหนึ่งของละแวกเกาะรัตนโกสินทร์นี้
บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารอาษา issue 06:2013
เกี่ยวกับผู้เขียน :
สาโรช พระวงค์ / Xaroj Phrawong
สถ.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและสถ.ม.มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์ สถาปนิก และนักเขียนให้กับหลากนิตยสารและเวบไซต์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำและรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และอาจารย์พิเศษในสถาบันอื่นๆ