หากใครเคยแวะเวียนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณที่สมุทรปราการแล้ว คงจะรู้ดีว่าเนื้อที่อาณาเขตของเมืองโบราณนั้น กว้างใหญ่เพียงไหน จนมีฝรั่งที่มาเยี่ยมชมจำนวนไม่น้อยที่มาบอกว่าขอนอนที่นี่ได้มั๊ยแล้วพรุ่งนี้ค่อยไปดูต่อให้หมด เมื่อมีเสียงเรียกร้องแบบนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เจ้าของโครงการตัดสินใจสร้างที่พักขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับอาณาจักรเมืองจำลอง ซึ่งตอนหลังได้เพิ่มฟังก์ชั่นเพื่อเน้นรองรับการเข้าค่ายลูกเสือจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในชื่อของ ศูนย์เยาวชนเมืองโบราณ โดยได้ ดร.บัณฑิต จุลาสัย และ อะเล็กซานเดอร์ สรรประดิษฐ์ จาก S A I consultants CO.,LTD. รับหน้าที่ในการออกแบบครั้งนี้

บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว ยาวตามแกนเหนือ-ใต้ อาคารถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ด้านทิศใต้เป็นอาคารอเนกประสงค์สูง 8 เมตร สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมรอบกองไฟในร่ม ส่วนด้านทิศเหนือเป็นอาคาร 3 ชั้น มีห้องธุรการในชั้น 1 และห้องพักรับรองบนชั้น 2-3 โดยวางผังเป็นระบบ single load corridor มีทางสัญจรบริเวณคอร์ทกลางอาคาร ซึ่งจะทะลุผ่านเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างสนามหญ้าด้านหน้ากับอาคารอเนกประสงค์ด้านหลัง มีแนวคิดเรื่องขนาดคือตัวอาคารจะต้องไม่ไปข่มเมืองจำลองทั้งหลาย และสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมต่างๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องตอบโจทย์เรื่อง orientation เพราะจากลักษณะของพื้นที่ ตัวอาคารจำเป็นต้องถูกเปิดในด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นด้านที่โดนแดดในปริมาณมากโดยเฉพาะในช่วงบ่าย สถาปนิกจึงคิดระบบ double surface ให้กับอาคาร คือจะมีผนังมวลเบาอยู่ด้านในและมีผนังไม้ระแนงเชอร่าเป็นตัวกรองแสงในส่วนผิวนอก อาคารธุรการด้านทิศเหนือเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กที่มีระยะห่างเสาปกติ สถาปนิกจึงออกแบบคานยื่น เพื่อที่จะมารับโครงสร้างระแนงหุ้มรอบอาคาร โดยเว้นในส่วนช่องเปิดไว้เพื่อไม่ให้บดบังมุมมอง และทัศนียภาพของเมืองโบราณ

ส่วนอาคารอเนกประสงค์ด้านทิศใต้ เป็นอาคารช่วงกว้าง สถาปนิกจึงออกแบบระบบโครงสร้างเสาคู่ จึงเกิดสเปซระหว่างเสาทำหน้าที่เป็นระเบียงชั้นลอยซึ่งสามารถให้ลูกเสือได้มานอนพักแรมได้อารมณ์ลุยๆแบบเด็กวัยรุ่น และแนวเสาด้านนอกก็เป็นโครงสร้างสำหรับรองรับไม้ระแนงเชอร่าหุ้มรอบอาคารเช่นกัน นอกจากจะใช้หุ้มผนังภายนอกแล้ว ไม้ระแนงยังสามารถใช้ในส่วนของฝ้าเพดานกรองแสง partition และราวบันได
ในแง่ของการออกแบบ ไม้ระแนงที่เรียงเว้นช่องนอกจากจะช่วยลดปริมาณแสง และความร้อนที่จะส่งผ่านเข้ามายังตัวอาคารและยอมให้ลมผ่านเข้ามาในตัวอาคารได้สะดวกแล้ว ไม้ระแนงเชอร่ายังมีเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติอมความร้อนน้อย จึงเหมาะสำหรับอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องการติดตั้งระบบปรับอากาศที่สิ้นเปลืองพลังงานมาก นอกจากนั้นการออกแบบระบบการเรียงไม้ระแนงให้เกิดแพทเทิร์นในแนวนอนยังช่วยให้อาคารดูไม่รู้สึกสูงใหญ่จนเกินไปอีกด้วย













ขอขอบคุณเต้ยสำหรับรูปถ่ายและเรื่องราวของงานนี้ด้วยครับ
ท่านใดที่เป็นสมาชิก multiply และต้องการ comment เกี่ยวกับงานนี้ ขอเชิญได้ที่เว็บของเจ้าของภาพ ที่นี่ เลยครับ |