
สถาปัตยกรรมในสถานศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนออกแบบได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบตามยุคสมัย ในยุคโมเดิร์นโรงเรียนออกแบบเท่ากับที่สอนให้ปฏิบัติ และโรงเรียนสถาปัตยกรรมก็จะสอนออกแบบอย่างเช่นที่เบาเฮ้าส์ ต่อมาเมื่อโลกสถาปัตยกรรมเดินทางจนมาถึงยุคโพสต์โมเดิร์น โรงเรียนออกแบบไม่ใช่โรงเรียนที่สอนแค่ออกแบบอีกต่อไป แต่โรงเรียนออกแบบต้องสอนถึงทฤษฎีการออกแบบด้วย เพราะในยุคโพสต์โมเดิร์นมองว่าสถาปัตยกรรมเป็นสะพานเชื่อมไปกับบริบทด้วยเช่นกัน โรงเรียนออกแบบในยุคนี้ที่ผ่านการเห็นปัญหาจากยุคที่ผ่านมาจึงต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่ที่ให้เหล่านักเรียน คณาจารย์ มาพบเจอกันในห้องเรียนแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านอีกต่อไป การตีความของสถาปัตยกรรมเพื่อการศึกษาของบ้านเราในยุคนี้จึงมีแนวโน้มที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนดั่งการมาพบกับอาคารหลังนี้ในมหาวิทยาลัยรังสิต
จากแต่เดิมที่หน้าคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังเป็นลานคอนกรีตสำหรับกิจกรรมต่างของนักศึกษาและลานจอดรถที่จัดสรรการใช้สอยพื้นที่อย่างเอนกประสงค์ เมื่อทางมหาวิทยาลัยมีความคิดจะจัดการพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดสถาปัตยกรรมสำหรับรองรับกิจกรรมที่หลากหลายของนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันสิ่งจะเกิดขึ้นมันจะต้องกลายเป็นหน้าตาใหม่ให้กับคณะศิลปะและการออกแบบ ที่แต่เดิมเป็นอาคารคอนกรีตหน้าตาเรียบร้อยด้วยเช่นกัน โจทย์จึงเดินทางมาถึงสำนักงานสถาปนิกStudiomake ที่จะตีความและเสนอทางออกของโจทย์นี้
 โจทย์นี้ทางสถาปนิกเริ่มตีความจากปัญหาที่ตัวอาคารนี้ต้องเป็นเหมือนประตูบานใหม่ของคณะศิลปะและการออกแบบ หรืออาคาร8 แต่ในขณะเดียวกันมันควรจะช่วยกระตุ้นพื้นที่เดิมให้มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยสถาปัตยกรรม โปรแกรมเริ่มต้นที่เกิดจากการเสนอของ Studiomake ที่เติมส่วนการใช้สอยมากกว่าจะเป็นแค่ประตูใหม่ แต่ให้เหมือนยังเป็นลานกิจกรรมนักศึกษาเดิม และกิจกรรมยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนไปเป็นการผสมของประตูสู่คณะศิลปกรรม โปรแกรมที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นลูกผสมของหลากหลายสเปซบนที่ดินผืนนี้ ทำให้เกิดที่มาของ พัฒนาแกลเลอรี่' ในที่สุด
บนพื้นที่ของอาคารจำนวนประมาณ 1,500 ตารางเมตร สถาปนิกนำเสนอโปรแกรมภายในอาคารนี้ประกอบด้วยแกลเลอรี่ในชั้น1 ที่รายรอบอยู่สองข้างของทางเดิน ห้องสมุด ห้องประชุมเอนกประสงค์ที่ชั้น2 และที่ทำการของคณะดิจิทัลอาร์ตที่ชั้น3 และพื้นที่เอนกประสงค์ที่กระจายตัวอยู่หลายส่วนของอาคารทำให้อาคารนี้เป็นที่รวมตัวของเหล่ายุวสถาปนิก นักออกแบบ ศิลปิน กระจายตัวไปทุกส่วน

แนวคิดของงานนี้ Studiomake ไม่ได้สนใจถึงผลลัพท์ของรูปทรงที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่องานนี้เข้ามาวางดูจะเป็นปัญหาหลักที่พวกเขาสนใจมากกว่า การสร้างประตูขนาดใหญ่ที่พวกเขามองว่าเป็น canopy คลุมกิจกรรมใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า เมื่อมองในระดับแปลนอาคารนี้จะต้องถูกสร้างคร่อมทางเดินเข้าของอาคารเรียนเดิม สถาปนิกได้เลือกที่จะเฉือนก้อนฟังก์ชั่นออกเป็นสองส่วนที่ชั้น1 เพื่อให้เหล่าผู้ใช้อาคารเดินผ่านแกลเลอรี่ที่ขนาบอยู่สองข้างทางเดินเพื่อจะได้ซึมซับกับผลงานศิลปะ หรือนิทรรศการต่างๆที่ถูกจัดหมุนเวียนไปตลอด
เทคนิคการวางฟังก์ชั่นส่วนแกลเลอรี่ช่วยกระตุ้นพื้นที่ทางเข้าให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้อาคารได้ง่ายขึ้น แต่นอกจากในระดับแปลนที่ถูกมองออกเป็นสเปซในแนวตั้งแล้ว สถาปนิกได้ออกแบบให้มีบันไดขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมกิจกรรมจากชั้น1สู่ชั้น 2,3 อีกเช่นกัน โดยพฤติการณ์สังเกตจากการเข้าไปใช้ภายในอาคาร ที่บริเวณชั้น1จะคึกคักด้วยผู้คนที่เข้าออกตลอด แต่ในพื้นที่ของชั้น 2,3 จะเป็นทางลงของผู้ใช้ที่มาจากชั้น3ของอาคาร8 แต่ก็มีบางส่วนที่จะเลือกใช้ส่วนนี้เป็นทางขึ้นโดยตรงไปยังชั้น3 ซึ่งจะตรงกับแนวคิดของสถาปนิกที่ต้องการจะลดการใช้ลิฟท์ ให้เหล่านักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในคณะที่กระจายตัวไปยังทุกส่วนของงานนี้
จากแนวคิดเรื่องการใช้บันไดให้เกิดทั้งปฏิสัมพันธ์และลดการใช้ไฟฟ้าจึงออกแบบให้บันไดมีลักษณะยืดหยุ่น เอื้อต่อการเดินขึ้นลง แม้ว่าเทียบกับเสกลของอาคารแล้วด้วยขนาดของความกว้างที่ยังไม่มากพอ ในชั่วโมงเร่งด่วนอย่างช่วงที่ต้องเข้าเรียนพร้อมๆกัน หรือช่วงพักกลางวันจึงไม่สามารถบรรลุถึงจุดประสงค์แนวคิดนี้ได้ ซึ่งสถาปนิกเล่าถึงแนวคิดให้เราว่า เรามองว่าการเดินและการเชื่อมเป็นหัวใจของงานนี้ จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามว่าประสบการณ์การเดินผ่าน 'ถนนภายใน(interior street)' นี้ควรประกอบไปด้วยอะไร
เราตั้ง program มาหลาย program ตั้งแต่ห้องเรียน จนถึง workshop จนถึงห้องสมุด จนถึงหอศิลป์ เมื่อนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับ user ทุกคนก็ตกลงกันว่า การมี gallery เอนกประสงค์ เป็น space ที่สื่อถึงความหลากหลายของทั้ง 3 คณะที่สุด และเป็น program ที่ active ที่สุดในหมู่ทางเลือกต่างๆ

ลักษณะของสเปซภายในดูลื่นไหลและเกาะไปตามเส้นสัญจรทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดูจะพ้องไปกับความสัมพันธ์ของเปลือกที่สถาปนิกเลือกผนังตะแกรงเหล็กฉีกเข้ามาประกอบเป็นวัสดุหลัก ที่ดูเคลื่อนไหว แต่กลมกลืนไปกับผนังอลูมิเนียมคอมโพสิตด้วยการใช้สีดำทั้งสองวัสดุ สถาปนิกเลือกใช้ผนังดำทึบในส่วนที่เป็นกิจกรรมต้องการปิด รับแสงน้อยซึ่งอยู่ในส่วนทิศเหนือของอาคารที่เป็นส่วนแกลเลอรี ห้องประชุม สำนักงาน แต่ในด้านทิศใต้ที่มีแสงเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ตลอดปี
สถาปนิกเลือกเปลือกเป็นตะแกรงเหล็กฉีกทำให้เกิดความน่าสนใจของงาน เพราะตะแกรงเหล็กฉีกถูกวางซ้อนเป็นสองชั้นแบบ double skin คุณสมบัติของการเหลื่อมกันทำให้เกิดความพร่าเลือนของพื้นที่ภายในจากสายตาภายนอก ทำให้เมื่อมองจากภายนอกจะพบกับภาพอันพร่าเลือนของกิจกรรมภายในช่วยให้การใช้สอยภายในเป็นไปในแบบกึ่งสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงเนื้อหาเรื่องราวภายในกล่องดำใบนี้ว่ามันคืออะไรกันแน่
ส่วนที่น่าสนใจของตะแกรงเหล็กฉีกของอาคารนี้คือการออกแบบรายละเอียดที่ใช้วิธีการยึดผนังแบบตรงไปตรงมา แสดงให้เห็นร่องรอยอย่างชัดเจนของแผ่นเหล็กที่ยึดเข้ากับโครง เป็นวิธีแสดงถึงสัจจะของวัสดุที่มันควรจะเปิดเผยตัวมันออกมามากกว่าเขินอายด้วยการซ่อน วิธีนี้สถาปนิกใช้ออกแบบรายละเอียดจนสัมพันธ์ไปทั้งระบบอาคารตั้งแต่ โครงสร้างเสาคาน ผนัง ขอบระเบียง ร่องระบายน้ำลูกนอนบันได เรียกได้ว่าโชว์รายละเอียดกันทุกจุดเลยทีเดียว
ผนังตะแกรงเหล็กฉีกที่หุ้มอาคารนี้จึงถูกวางอย่างตรงไปตรงมาตามการใช้สอย มันก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของแสงเงาที่ทาบไปยังสเปซส่วนสำหรับนัดพบปะกันของเหล่าศิลปิน นักออกแบบหลากสาขาในอาคาร 8 ในความเบลอภายในจากแสงแดดจัดจ้าตอนกลางวันผนังตะแกรงเหล็กฉีกสีดำจะพรางกิจกรรมภายในให้แลเห็นลางๆ เมื่อเวลากลางคืนมาถึงตะแกรงเหล็กฉีกสีดำจะเป็นผิวที่เรืองแสงจากหลอดไฟในอาคาร ทำให้พัฒนาแกลเลอรี่กลายเป็นโคมไฟอีกแห่งของมหาวิทยาลัยรังสิต

ก่อนจะจบบทสนทนากับสถาปนิก เราได้ข้อคิดถึงแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานศึกษาทุกวันนี้ไว้อย่างน่าขบคิดต่อเยอะทีเดียวว่า ตอนนี้คำที่เราได้ยินบ่อยๆ ในวงการศึกษาคือ edutainment ซึ่งเรามองว่าเป็นแนวคิดที่มีทั้งกรณีที่เหมาะสมและกรณีที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเพราะเรามองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เราถึงคิดว่าสถานศึกษาควรสะท้อนถึงความจริงจังและความศักดิ์สิทธิ์นั้น และควรให้แรงบันดาลใจกับ user โดยไม่กำหนดหรือฝืนพฤติกรรม ไม่ต้องปรุงแต่งด้วยความสนุกสนานหรือความบันเทิง
การสร้างพื้นที่ให้กับจินตนาการของนักศึกษาที่เรียนการออกแบบ น่าจะเป็นอะไรที่ minimal (เป็นเพียงแค่กรอบๆ หนึ่ง) และ flexible (มีความยืดหยุ่น) ที่สุด สองปัจจัยนี้มาก่อนและสำคัญที่สุดในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มคนที่มี ความสร้างสรรค์อยู่แล้ว เวลาได้ยินคำว่า edutainment เราถึงต้องตั้งคำถามว่า การออกแบบที่ไปกำหนดกิจกรรมให้คนมากเกินไปมันเหมาะสำหรับสถานศึกษาหรือเปล่า

ความงามของบรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นทรัพยากรที่ดีในการผลิตนักออกแบบแน่นอน เมื่อคนเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ย่อมสร้างสรรค์ของดีจากที่เสพออกมา ทำให้นึกถึงคำของอาจารย์สุกรี เจริญสุข แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยที่ดีมีหน้าที่สร้างรสนิยมที่ดีให้กับนักศึกษา



















ขอขอบคุณ คุณแขกสำหรับรูปและเรื่องราวของงานนี้ด้วยครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จากนิตยสาร art4d ฉบับเดือนเมษายน 2556 ครับ
|