Home
Featured Projects
Photo Gallery
All Buildings
Articles
Links
About us
Interviews & Lectures
Book Reviews

   
Project : L&M Art Gallery
Location : Venice, California, U.S.A.
Architect : คุณ กุลภัทร ยันตรศาสตร์, wHY Architecture
Photos by : Iwan Baan, Tor [21 Photos]
Article by : Tor

ถ้าพูดถึง art gallery เราอาจจะนึกถึงสถานที่แสดงงานศิลปะที่เข้าถึงได้ยากหน่อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ที่เข้าไปชมมักจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆอย่างเช่น คนในแวดวงศิลปะ นักสะสมงานศิลปะ หรือไม่ก็กลุ่มคนที่มีสตางค์หน่อย และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุผลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของงานศิลปะ คุณกุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง wHY Architecture ใน Los Angeles ได้มีแนวคิดในการออกแบบ art gallery ที่แตกต่างออกไป โดยเขาต้องการให้เป็นสถานที่ที่เปิดกว้างและเป็นมิตร เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้น


มุมมองจากลานโล่งตรงกลางไปสู่อาคารแกลเลอรี่ใหม่ซึ่งล้อบรอบด้วยสวนประติมากรรม
Photo by Iwan Baan

ผมนัดกับคุณกุลภัทรในช่วงบ่ายๆวันเสาร์ที่ L&M Arts gallery แห่งนี้ เขาได้เกริ่นให้ฟังเกี่ยวกับ L&M ว่าเป็นดีลเลอร์งานศิลปะระดับสูงรายใหญ่ที่มีอิทธิพลมากรายหนึ่งในแวดวงศิลปะของอเมริกา แต่เดิมนั้นเขามี gallery แห่งหนึ่งอยู่ที่นิวยอร์ค แต่ด้วยความที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นั้น วงการศิลปะในแอลเอได้มีความคึกคักมากขึ้นด้วยความรวดเร็ว มีศิลปิน museum director หรือ curator ที่มีชื่อเสียงย้ายเข้ามาอยู่ในแอลเอกันมากขึ้น ประกอบกับสถานที่ของ L&M Arts ที่นิวยอร์คนั้นไม่เพียงพอต่อการแสดงงานแล้ว จึงตัดสินใจมาเปิดอีก gallery หนึ่งที่เมืองเวนิสซึ่งเป็นเหมือนเขตเขตหนึ่งของแอลเอนี้

ระหว่างที่เดินชมงานกัน เขาได้เล่าถึงที่มาของเมืองเวนิสนิดหน่อยว่า แต่เดิมนั้นเวนิสเป็นเมืองที่ก่อตั้งโดยเศรษฐีชื่อ Abbot Kinney โดยที่เขาต้องการที่จะสร้างสถานที่ตากอากาศให้เหมือนเมืองเวนิส ของประเทศอิตาลี ก็ได้ทำการขุดคูคลอง สร้างท่าเรือ สวนสนุก และก็สร้างบ้านตากอากาศขายไปในตัวด้วย ศูนย์กลางของเมืองก็จะมีอาคารศาลาว่าการ สถานีดับเพลิง และโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ต่อมา Abbot Kinney ซึ่งในสมัยนั้นคนได้หาว่าเขาเพี้ยนๆหน่อยๆได้ล้มละลาย เมืองเวนิสเลยการเป็นเมืองรกร้าง เป็นแหล่งมั่วสุมไป เลยกลายเป็นที่มาของชื่อเล่นเมืองว่า 'Dog Town' และเป็นแหล่งกำเนิดสเก็ทบอร์ดของโลก สุดท้ายเวนิสก็ได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแอลเอ พวกอาคารศูนย์กลางเมืองต่างๆเลยถูกขายและใช้งานเป็นอย่างอื่นไป โดยหนึ่งในกลุ่มอาคารนั้นคือ โรงไฟฟ้าได้ถูกเปลี่ยนการใช้งานมาแล้วหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิสสถาปนิก สตูดิโอของศิลปิน โรงละคร ร้านทำพิมพ์เขียว และล่าสุดก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง L&M Arts gallery นี้นี่เอง


การที่อาคารแกลเลอรี่ใหม่หันทำมุมกับอาคารเก่าทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนมีแรงดึงดูดกันระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’
Photo by Iwan Baan

บนที่ตั้งที่รูปร่างค่อนข้างจะประหลาดหน่อยคือเป็นรูปสามเหลี่ยม โครงการนี้ประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 3 ส่วนคือ โรงไฟฟ้าเก่าซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐที่สร้างตั้งแต่ปี 1929 อาคาร gallery ใหม่และส่วนออฟฟิส คุณกุลภัทรได้พูดถึงแนวคิดในการวางผังว่า เนื่องจากสภาพอากาศสบายๆที่เต็มไปด้วยแสงแดดและไม่ค่อยมีฝนของแอลเอ เขาต้องการให้ความสำคัญกับพื้นที่ข้างนอกด้วย เลยออกแบบให้มี courtyard ซึ่งล้อมรอบด้วยอาคารเก่าและอาคารใหม่ โดยที่อาคารใหม่หันมุมเข้าหาตัวอาคารเก่า เขาบอกว่าเขาต้องการทำให้เกิด "การเต้นรำกันระหว่างของเก่ากับของใหม่ ของเก่าถูกทำให้มีชีวิตชีวาโดยของใหม่ และของใหม่อาศัยอยู่ภายในของเก่า" และทั้งสองอาคารก็เป็นเสมือน pavilion ที่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศสวนประติมากรรม

ผมได้เดินเข้าไปในส่วนอาคารโรงไฟฟ้าเก่าก่อน ส่วนที่สะดุดตาผมเป็นอย่างแรกนั้นไม่ใช่งานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ขณะนั้น แต่เป็นฝ้าเพดานด้านบน ซึ่งมีการเจาะช่อง skylight รูปสีเหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ และมีการกรองแสงด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีแสงธรรมชาติที่ลงมาสู่ space ภายในนั้นค่อนข้างจะนุ่มนวล ขอบของฝ้าเพดานที่ถูกเจาะนี้ได้ถูกออกแบบให้บางเป็นพิเศษ นำให้ตัวฝ้านี้ดูเหมือนบางเบาและลอยอยู่ภายใน space และทำให้นึกถึงงาน Skyspace ของศิลปิน James Turrell ส่วนพื้นของอาคารนี้ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมากนัก ร่องรอยการใช้งานของอาคารเก่าอย่างเช่น ร่องรอยของช่องท่อต่างๆที่ถูกใช้งานตั้งแต่ยังเป็นโรงไฟฟ้า โรงพิมพ์เขียว ก็ยังแสดงให้เห็นอยู่ เพียงแต่มีการทำความสะอาดและทำให้ดูเรียบร้อยขึ้นเท่านั้น ส่วนผนังนั้น เนื่องจากโดยธรรมชาติของอาคารที่ต้องการพื้นที่สีขาวว่างๆ ไว้ติดแสดงงานศิลปะ หน้าต่างส่วนใหญ่ของอาคารนี้เลยต้องถูกปิดไปด้วยผนัง แต่ว่าแทนที่จะปิดด้วยผนังสีขาวทั้งหมดภายในอาคาร สถาปนิกได้เลือกที่จะเปิดบางส่วน เพื่อให้เห็นสภาพของผนังอิฐและโครงสร้างหลังคาคอนกรีตเดิมไว้บ้าง


ฝ้าเพดานของอาคารแกลเลอรี่เก่าที่ทำให้นึกถึงงาน Skyspace ของ James Turrell
Photo by Iwan Baan

ในส่วนของอาคาร gallery ใหม่นั้นถ้ามองจากถนนภายนอกแล้วดูเหมือนจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส จริงๆแล้วเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากภายใน ผนังภายนอกของอาคารใหม่นี้ทำมาจากอิฐสองชนิดคือ ชนิดแรกเป็นอิฐที่ถูกใช้เป็นส่วนใหญ่ของผนัง เป็นอิฐที่รีไซเคิลมาจากอาคารเก่าๆที่ถูกทำลายไปในย่านดาวน์ทาวน์ของแอลเอ และอีกชนิดเป็นอิฐที่ยื่นเด่นออกมาจากผนังเล็กน้อย เป็นอิฐที่มาจากกระบวนการเผาด้วยไฟแบบดั้งเดิม โดยเลือกเอาเฉพาะอันที่ไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก ที่มีชื่อเรียกว่าอิฐประเภท "clinger" ซึ่งเป็นอิฐชิ้นที่ตอนเผานั้นอยู่ใกล้ไฟมากหน่อย ก็จะออกมาบิดๆเบี้ยวๆผิดสภาพไป คุณกุลภัทรบอกว่า เขาอยากแสดงให้เห็นถึงความงามที่เกิดจากความ imperfect หรือความบกพร่อง ซึ่งมันก็มีเสน่ห์ของมัน และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติโดยที่มนุษย์เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมมันได้ เพราะฉะนั้นการก่อผนังอิฐนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องเรียบเนี๊ยบเท่ากันไปหมด


Skylight ของอาคารแกลเลอรี่ ใหม่กับโครงสร้างหลังคาที่ทาสีหม่น ให้เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นของเก่า
Photo by Iwan Baan


ความต่อเนื่องของวัสดุ อิฐรีไซเคิลกับอิฐประเภท ‘clinger' จากภายนอกสู่ภายในอาคารและ space ที่เชื่อมต่อกันระหว่างส่วนออฟฟิศ แกลเลอรี่กับลานตรงกลาง
Photo by Iwan Baan

ภายในส่วน gallery ใหม่นี้ก็มีจุดเด่นเป็น skylight ขนาดใหญ่ด้านบนเช่นกัน แต่คราวนี้ไม่มีชั้นผ้าแบบอาคารเก่า แต่เป็นการโชว์โครงหลังคาที่ออกแบบเป็นโครงสร้างไม้ซึ่งทำสีเทาหม่นๆให้ดูเหมือนอาคารโบราณหน่อย หัวมุมของ gallery นี้จะถูกเปิดออก โดยที่ด้านหนึ่งเป็นช่องหน้าต่างสูงๆที่มองออกไปเห็นถนนด้านหน้า ในขณะเดียวกันผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็จะมองเข้ามาเห็นนิทรรศการที่จัดอยู่ภายในได้อยู่บ้าง ซึ่งเขาเรียกหน้าต่างนี้เล่นๆว่า "sexy window" นอกจากจะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง space ภายนอกกับภายในแล้ว ยังช่วยให้ผู้เข้ามาชมงานศิลปะรู้ได้ว่าตัวเองนั้นอยู่ตรงไหนของอาคาร หัวมุมถัดไปนั้นเป็นประตูเปิดออกไปสู่สวนประติมากรรมภายนอก และอีกมุมหนึ่งนั้นเป็นประตูที่เชื่อมไปสู่ส่วนออฟฟิส

ส่วนออฟฟิสนั้นเป็นอาคารรูปทรงสามเหลี่ยมที่อยู่ระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ วัสดุหลักที่ใช้ภายนอกอาคารนี้แตกต่างออกไปจาก gallery ทั้งสองส่วนอย่างสิ้นเชิง คือเป็นผนังกระจกและผนังกรวดล้างออกโทนสีเทาๆ ซึ่งนอกจากจะไม่แข่งกับอาคาร gallery ทั้งสองแล้ว ผนังกระจกทำให้บริเวณ courtyard นี้ดูโปร่งโล่งยิ่งขึ้น และพื้นผิวของกระจกก็สะท้อนให้เห็นภาพของการตอบโต้กันระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ พื้นที่ด้านหน้าของส่วนออฟฟิสนี้มีการจัดสวน ซึ่งต้นไม้ที่ถูกปลูกไว้ตรงนี้ช่วยให้บรรยากาศตรง courtyard ดูร่มรื่นขึ้น และเป็นการช่วยบังส่วนจัดการกับชิ้นงานศิลปะที่อยู่ด้านหลังภายในออฟฟิสไปในตัว


ภายในส่วนออฟฟิส
Photo by Iwan Baan

พื้นที่ภายในนั้นแบ่งออกเป็นส่วนต้อนรับ ส่วนทำงาน ห้องทำงานของเจ้าของ และห้องชมงานศิลปะแบบส่วนตัวเป็นพิเศษ ระหว่างที่ผมเดินชมอยู่ในนั้น ผมได้เหลือบไปเห็นโต๊ะทำงานและ โต๊ะวางของรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่ดูบางๆเบาๆขัดแย้งกับการใช้งานของมัน คุณกุลภัทรได้บอกว่าเจ้าของเขาได้ขอให้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับตัวอาคารด้วย เขาจึงเริ่มคิดจากรูปทรงของอาคารที่เป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด แล้วนำมาบิดมาเชื่อมต่อกัน โดยวัสดุที่ใช้นั้นเป็นเหล็กแผ่น เห็นบางๆเบาๆแต่ผมลองไปยกดูแล้วหนักไม่ใช่เล่นเลย


ห้องทำงานของเจ้าของ
Photo by Iwan Baan


ภายในห้องชมงานศิลปะส่วนตัว และโต๊ะที่ออกแบบโดยคุณกุลภัทร

L&M Arts gallery ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยนิทรรศการของประติมากร Paul McCarthy ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งสื่อ คนในวงการศิลปะ และผู้คนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในละแวกนั้น วันที่ผมไปเดินชมอาคารกับคุณกุลภัทรนั้น เป็นวันที่เขากำลังเตรียมที่จะเปิดนิทรรศการใหม่ของ Thomas Houseago ศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง ผมสังเกตเห็นได้ว่ามีผู้คนที่ขับรถหรือเดินผ่านไปมา ได้แวะเข้ามาชมงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ทั้งภายในอาคาร ภายในสวน หรือแม้กระทั่งบนผนังอาคารอยู่พอสมควร ผมเชื่อว่าเป้าหมายของคุณกุลภัทรที่ต้องการจะให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายยิ่งขึ้นนั้นสำเร็จไปได้ในระดับหนึ่งทีเดียว


มุมมองจากถนน Venice Boulevard


detail ช่องว่างที่อาคารเก่าและอาคารใหม่มาเจอกัน


‘sexy window’ ที่ช่วยให้คนที่เดินผ่านไปมามองเข้าไปเห็นงานศิลปะที่จัดแสดงไว้ภายในได้บ้างเล็กน้อย


ผลงานศิลปะของ Thomas Houseago


detail โครงสร้างหลังคา


ผังบริเวณ


รูปด้าน


รูปตัดอาคารใหม่และอาคารโรงไฟฟ้าเก่า


รูปตัดส่วนออฟฟิส

ขอขอบคุณพี่กึ๋น กุลภัทร ยันตรศาสตร์, wHY Architecture สำหรับข้อมูลและรูปถ่ายของงานนี้ครับ
บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d ฉบับ 181 ขอขอบคุณ art4d ที่อนุญาตให้นำมาลงในเว็บ GotArch ด้วยครับ

     

กรุณาส่งคำแนะนำมาที่ got_arch@yahoo.com

หน้าแรก | โปรเจค | แกลเลอรี่ | บทความ | ลิ้งค์ | เกี่ยวกับเรา